”วัคซีนคุมกำเนิดช้างป่า“ ฝ่ายอนุรักษ์ที่มองว่าอาจทำให้ช้างเกิดอันตรายได้ แต่ก็มีฝ่ายที่เข้าใจและเห็นถึงเหตุผลที่ทางภาครัฐ ต้องเร่งแก้ปัญหา ให้คน และช้างอยู่ร่วมกันได้ และเห็นตรงกันว่า วัคซีนนี้ จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด  

เมื่อวันจันทร์ที่ 20 ธันวาคม 2567 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ชี้แจงถึงการเลือกใช้ “วัคซีนคุมกำเนิด” ว่า ที่ผ่านมากรมอุทยานฯ ไม่เคยนิ่งนอนใจกับปัญหาเรื่องช้างป่า เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ชุดผลักดันช้างป่า ที่ทำงานกันอย่างหนัก ในการผลักดันช้างป่ากลับเข้าเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และป้องกันการสูญเสียทั้งพื้นที่การเกษตรกร ชาวบ้าน และช้างป่า แต่ต้องยอมรับว่าในช่วงที่ผ่านมามีช้างป่า หากินนอกพื้นที่ป่า เข้ามาในชุมชน บ้านเรือน ไม่น้อยกว่า 600 ตัว จนเกิดเป็นปัญหา ระหว่างคน กับช้าง ตอนนี้มันจะไม่ใช่แค่ช้างทำร้ายคนแล้ว คนจะทำร้ายช้างด้วย จากสาเหตุดังกล่าวปัญหานี้ จึงกลายเป็นวาระแห่งชาติที่จำเป็นต้องเร่งแก้ปัญหาเพื่อลดการสูญเสีย จึงมีการจัดตั้ง “คณะกรรมการอนุรักษ์และจัดการช้างป่า” ปี พ.ศ. 2565 ลงนามโดยนายกรัฐมนตรี เพื่อบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนและดำเนินการงานด้านการอนุรักษ์ จัดการ และแก้ไขปัญหาช้างป่าให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

.

สำหรับการควบคุมประชากรช้างป่าด้วยวัคซีนคุมกำเนิด เป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนและข้อสั่งการของ ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ได้มอบหมายและสั่งการให้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชดำเนินการเร็ว และเป็นทางออกที่ดีที่สุด ซึ่งที่ผ่านมา กรมอุทยานฯ ได้ร่วมกับศูนย์สุขภาพช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พัฒนาโครงการศึกษาวิจัยการใช้วัคซีนคุมกำเนิดแก่ช้างป่า โดยใช้วัคซีนคุมกำเนิด SpayVac® ซึ่งมีการใช้งานจริงในช้างแอฟริกามาแล้ว

.

โครงการทดลองฉีดวัคซีนคุมกำเนิดในช้างเพศเมียเต็มวัย 7 เชือก ตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2567 มีการเก็บตัวอย่างเลือด ตรวจสุขภาพ และติดตามผลหลังการฉีดวัคซีน โดยวัคซีน 1 เข็มจะควบคุมได้ระยะยาว 7 ปีและวัคซีนไม่มีผลต่อพฤติกรรมและสรีระของช้าง เป็นเพียงควบคุมฮอร์โมนช้างเพศเมียไม่ให้มีลูก ผลการทดลองหลังการฉีดวัคซีนพบว่าวัคซีนมีความปลอดภัย ไม่มีผลข้างเคียง ช้างไม่มีอาการอักเสบ วัคซีนจะไม่ส่งผลกระทบต่อช้างที่อยู่ในระหว่างตั้งครรภ์ ไม่ส่งผลเสียต่อพฤติกรรมของตัวช้าง และพฤติกรรมทางสังคมของช้างป่า จึงได้มีโครงการนำร่องเพื่อขยายผลการใช้วัคซีนคุมกำเนิดระยะยาวในช้างป่า

.

ขอย้ำ!! อีกครั้งว่า วัคซีนนี้จะถูกใช้งานในพื้นที่ที่มีปัญหาเท่านั้น พื้นที่ที่มีประชากรช้างป่ามากจนเกินศักยภาพของพื้นที่อนุรักษ์ และขนาดของพื้นที่ป่าจะรองรับได้ เช่น ในพื้นที่กลุ่มป่าตะวันออก (ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด) ภาคตะวันออก ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรช้างป่าที่มีอัตราการเพิ่มสูงที่สุดและกำลังเผชิญปัญหาที่รุนแรงมากจากการที่ช้างป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์

.

โดยหลังจากปีใหม่นี้ กรมอุทยานฯ จะมีการทำประชาพิจารณ์ “เรื่องวัคซีนคุมกำเนิดช้างป่า” โดยจะเชิญ ทั้งฝ่ายอนุรักษ์ ฝ่ายนักวิชาการ และประชาชนที่ได้รับผลกระทบมารับฟังความคิดเห็น และเข้าใจเป้าหมาย และเหตุผลให้ตรงกัน เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนไปมากกว่านี้ จากคำอธิบายของท่านอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตวป่าและพันธุ์พืช เห็นถึงความตั้งใจที่ท่านต้องการที่จะแก้ปัญหาช้างป่าอย่างจริงจัง เพราะมันเป็นปัญหาที่เรื้อรังและแก้ไขได้ยาก เพราะช้างก็เปรียบเสมือนสัตว์คู่บ้านคู่เมือง ทั้งนี้เราต้องยอมรับถึงจำนวนประชากรช้างที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และสร้างความสูญเสียทั้งสองฝ่าย ก็มีคำถามขึ้นมา “ถึงเวลาที่ต้องควบคุมแล้วช้างป่ากันหรือยัง ”

 

 

 

#นริศราศรีสันต์ #ช้างป่า #วัคซีนคุมกำเนิดช้าง #กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

 

ดร.โนชญ์ ชาญด้วยกิจ/รายงาน