ยางพารา แก้ปัญหาน้ำเสีย – กลิ่นเหม็นกระทบชุมชน น้ำเสียถูกนำมาทิ้งในแม่น้ำ ลำคลอง เกิดความเสียซ้ำซาก และต่อเนื่อง

สืบเนื่องจากกรณี การลักลอบทิ้งน้ำขี้ยางของผู้ประกอบการร้านรับซื้อขี้ยาง ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นบริเวณกว้าง ความยาวลำคลอง ประมาณ 3 กม. เขตพื้นที่ คลองโพล้ หมู่ 1 ตำบลห้วยทับมอญ และพื้นที่ หมู่ 2 ตำบลชำฆ้อ อำเภอเขาชะเมา จังหวัดระยอง และไหลเข้าฝายตำบลชำฆ้อเข้าบัานน้ำใส ตำบลน้ำเป็น อำเภอเขาชะเมา จังหวัดระยอง สร้างผลกระทบกับชาวสวนผลไม้ ที่ใช้น้ำในการรดต้นทุเรียน ช่วงนี้กำลังออกดอกอยู่ จนเกิดความเสียหาย ขณะนี้ นายอานนท์ วงศ์แย้ม นายอำเภอเขาชะเมา ได้มอบหมายให้ นายพิเชษฐ์ ศรีเพ็ชร กำนันตำบลชำฆ้อ ประธานชมรมกำนัน ผู้ใหญ่บ้านอำเภอเขาชะเมา นายหนึ่ง อ่อนระเบียบ กำนันตำบลห้วยทับมอญ นายนิวัติ วงศ์พึ่ง นายกเทศบาลตำบลชำฆ้อ นายสมพร พันธ์เฉลิมชัย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเขาชะเมา อำเภอเขาชะเมา จังหวัดระยอง และหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ระดมความร่วมมือกันนำสารปรับสภาพน้ำ Em และปูนโดโลไมท์ หว่านลงลำคลอง เพื่อแก้ปัญหาน้ำเน่าเสียอยู่ในขณะนี้

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า จากกรณีประชาชนได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการยางพารา เช่น การทำยางแผ่นจากน้ำยางธรรมชาติ การตัดแผ่นยาง ทำยางแผ่นรมควัน การแปรรูปยางพารา ผลิตภัณฑ์ยางจากยางธรรมชาติหรือยางสังเคราะห์ ที่ก่อให้เกิดปัญหาน้ำเสียและปัญหากลิ่นเหม็น ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกภูมิภาค หลายพื้นที่ที่มีการประกอบกิจการยางพารา อีกทั้งปัญหาดังกล่าวจะเกิดขึ้นซ้ำซาก ไม่ได้รับการปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้อง ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านในพื้นที่ต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน

 

จากปัญหาดังกล่าว คพ.ได้ทบทวนแนวทางการติดตามตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้การแก้ไขปัญหาแล้วเสร็จ คพ.จะตรวจเข้มตามข้อกำหนดเงื่อนไข 7 ข้อ ที่ผู้ประกอบกิจการโรงงานยางพาราต้องปฏิบัติให้ครบถ้วน ประกอบด้วย

1. ต้องมีและใช้ระบบบำบัดน้ำเสียที่มีขนาดและประสิทธิภาพเพียงพอที่จะปรับคุณภาพน้ำทิ้งทั้งหมดของโรงงานให้มีลักษณะเป็นไปตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2539) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535

2. ห้ามระบายน้ำทิ้งออกนอกบริเวณโรงงาน

3. ต้องมีระบบป้องกันและกักเก็บน้ำฝนที่ตกในพื้นที่โรงงานทั้งหมด มิให้รั่วไหลออกจากพื้นที่โรงงานที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อแหล่งน้ำสาธารณะ

4. ต้องมีและใช้ระบบขจัดกลิ่นที่เกิดจากการผลิตให้มีขนาดและประสิทธิภาพเพียงพอ และต้องใช้งานตลอดเวลาทำงาน โดยจะต้องมีมาตรการและวิธีการควบคุมอากาศเสียจากระบบบำบัดมิให้กลิ่นแพร่กระจายสู่ชุมชนที่อยู่ใกล้เคียง โดยระดับความเข้มข้นของสารเกิดกลิ่นตามที่กำหนด

5.ห้ามกองวัตถุดิบขี้ยางและสารเกิดกลิ่นทุกชนิดนอกอาคาร โดยจะต้องจัดเก็บไว้ภายในอาคารที่ปิดมิดชิด ไม่ก่อให้เกิดการแพร่กระจายของกลิ่นจนเกิดเหตุเดือดร้อนรำคาญต่อชุมชนที่อยู่อาศัยใกล้เคียง และหากมีการระบายอากาศออกจากอาคาร จะต้องมีวิธีและมาตรการควบคุมกลิ่น ให้มีความเข้มข้นที่ระดับพื้นดิน ให้เป็นไปตามข้อ 4

6. ต้องมีมาตรการควบคุมกลิ่นจากกองขี้ยางที่อยู่บนรถบรรทุกขณะจอดรถรอภายในบริเวณโรงงานมิให้ส่งกลิ่นเหม็นแพร่กระจายก่อเหตุเดือดร้อนต่อชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงโรงงาน และ

7. การกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ต้องเป็นไปตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2548

 

การประกอบการทุกชนิดจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนหรือพบเห็นการก่อมลพิษ โทรแจ้งได้ที่สายด่วน 1650 คพ. จะมุ่งปฏิบัติงานตามภารกิจ น้ำต้องสะอาด อากาศต้องบริสุทธิ์ หยุดปัญหามลพิษ เพื่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน

 

ข้อมูลโดย : ส่วนพัฒนาและบริหารระบบสารสนเทศ , ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

แกลเลอรี่