“กรมอุทยานฯ จับมือทรู – WWF แถลงความร่วมมือการ ใช้ AI ลดความขัดแย้งคน-ช้างป่า”

26 พฤศจิกายน 2567 นายวีระ ขุนไชยรักษ์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และคุณมนัสส์ มาณะจิตต์ ประธานคณะผู้บริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ร่วมแถลงความร่วมมือในการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า ภายใต้กิจกรรม “True On The Go” ภายใต้แนวคิด “ไปกับทรู…ดูกับตา ตอน ชวนชมช้าง” ณ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

 

จากสถิติล่าสุดพบว่าประเทศไทยมีประชากรช้างป่าประมาณ 4,013-4,422 ตัว กระจายอยู่ใน 16 กลุ่มป่า ครอบคลุมอุทยานแห่งชาติ 48 แห่ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 36 แห่ง และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า 9 แห่ง โดยในช่วงปี 2564-2566 มีเหตุการณ์ช้างป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์กว่า 37,135 ครั้ง สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินและพืชผลของราษฎรรวม 3,877 ครั้ง และมีผู้เสียชีวิตจากเหตุช้างป่าทำร้ายซึ่งเป็นผลกระทบที่ต้องได้รับการแก้อย่างเร่งด่วน

ด้วยเหตุนี้ กรมอุทยานฯ จึงร่วมกับทรู และ WWF ประเทศไทย พัฒนา “ระบบเตือนภัยอัจฉริยะ” (Kuiburi SMART Early Warning System) ติดตั้งที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ซึ่งมีประชากรช้างป่าอาศัยอยู่ไม่น้อยกว่า 237 ตัว ระบบดังกล่าวใช้กล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติร่วมกับเทคโนโลยี AI แจ้งเตือนการเคลื่อนไหวของช้างป่าแบบทันที ผ่านคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน

นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งชุดปฏิบัติการเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่า 5 ชุด ครอบคลุมพื้นที่ทั้งโซนเหนือ กลาง และใต้ของอุทยานฯ เพื่อป้องกันและให้ความปลอดภัยทั้งแก่สัตว์ป่าและราษฎรในพื้นที่ สะท้อนความมุ่งมั่นในการใช้เทคโนโลยีเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนระหว่างคนและช้างป่า

กิจกรรมครั้งนี้มีไฮไลท์สำคัญ คือการนำเสนอวิดีโอสาธิตระบบเตือนภัยอัจฉริยะ พร้อมพาเยี่ยมชมศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังช้างป่า และปิดท้ายด้วยกิจกรรม Night Trip เพื่อศึกษาการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลช้างป่าในช่วงกลางคืน

อุทยานแห่งชาติกุยบุรี – Kui Buri National Park