ปธ.คณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง วุฒิสภา พร้อมคณะเดินทางไปติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาของเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จ.ระยอง

เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 31 ต.ค.ที่อาคารเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อ.วังจันทร์ จ.ระยอง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกัมพล สุภาแพ่ง ปธ.คณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง วุฒิสภา พร้อมคณะ ได้เดินทางมาศึกษาดูงาน และติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาของเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จ.ระยอง

มีนายกัฬชัย เทพวรชัย รอง ผวจ.ระยอง น.ส.สายฝน โชชัย คลังจังหวัดระยอง นายวิจิตร พาพลงาม นอภ.วังจันทร์ พร้อมเจ้าหน้าที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ให้การต้อนรับ พร้อมบรรยายสรุป แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้รับทราบ โดยเฉพาะในเรื่องของ การส่งเสริมการลงทุน และมูลค่าการลงทุนในปัจจุบัน รวมทั้งประเด็นแนวทางการเจรียมความพร้อมและมาจนการรองรับการปฏิรูประบบภาษีอากรที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนในพื้นที่ EEC และติดตามความก้าวหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดยการเดินทางมาศึกษาดูงานรับทราบข้อมูลของเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และติดตามโครงการดังกล่าว จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการลงทุนในการพัฒนาประเทศต่อไป

 

นอกจากนี้คณะกรรมาธิการ การเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง วุฒิสภา ยังได้เดินทางไปติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เฟส 3 ในประเด็นการเยียวยาผู้ประกอบอาชีพประมงในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากการก่อสร้างที่สำนักงานท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด อีสเทิร์นซีบอร์ดด้วย

 

นายปฏิมา จีระแพทย์ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการฯ เปิดเผยว่า การเดินทางมาติดตามโครงการใน EEC ในวันนี้ เนื่องจากคณะกรรมาธิการฯ เห็นความสำคัญในเรื่องของการนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทย และโครงการ EEC เป็นโครงการที่เป็นประโยชน์อย่างมากเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งมีความล่าช้ามาในระยะหนึ่ง ซึ่งการมาติดตามความคืบหน้าดังกล่าว เพื่อให้มาเห็นพื้นที่ว่ามีการพัฒนาไปอย่างไรบ้าง มีผู้สนใจเข้ามาขอรับสิทธิพิเศษเข้ามาประกอบกิจการอุตสาหกรรมพื้นที่ EEC มากน้อยแค่ไหน ทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินมีความคืบหน้าเพียงใด ซึ่งก็ได้มารับฟังข้อเท็จจริงจากผู้บริหาร EEC ซึ่งทางคณะกรรมาธิการฯ จะได้นำเอาข้อมูลในเรื่องของการศึกษาในพื้นที่นั้นไปวิเคราะห์ และจะจัดทำข้อเสนอแนะให้กับทางฝ่ายบริหารของประเทศต่อไป ในส่วนของท่าเรือมาบตาพุด ก็ได้มาเห็นหนึ่งในท่าเรือที่สำคัญที่สุดของประเทศไทยในส่วนของที่เป็นพื้นที่สำรองพลังงานที่สำคัญของประเทศ ซึ่งจากนี้ก็คงจะต้องเดินหน้าต้อนรับนักลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งพลังงานก็ต้องสำรองไว้ใช้ให้เพียงพอ ซึ่งทางคณะกรรมาธิการฯ ก็ได้รับฟังปัญหาจากทางผู้บริหารท่าเรือฯ ซึ่งปัญหาล่าช้าที่พบเกิดจากมติ ครม. ในอดีตที่ต้องการหาผู้ร่วมทุน ซึ่งผ่านมานานพอสมควร ในเรื่องนี้ทางคณะกรรมาธิการฯ จะนำการสูญเสียโอกาสดังกล่าว นำไปทบทวนศึกษาแนวทางที่จะนำเสนอฝ่ายบริหารให้เสนอคณะรัฐมนตรีแก้มติ หรือทำมติใหม่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับการบริหารจัดการ เพื่อที่จะยกระดับเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญรุ่งเรืองมากยิ่งขึ้นต่อไป