“กรมอุทยานฯ ร่วมกับภาคีเครือข่าย ลงนาม MOU โครงการวิจัยการประเมินการกักเก็บคาร์บอนและสมดุลการตรึงคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิของระบบนิเวศป่าเต็งรังด้วยการสำรวจระยะไกล

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ร่วมด้วยภาคีเครือข่าย ได้แก่ คุณเจน ชาญณรงค์ ประธานชมรมผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล คุณดำรงค์ ศรีพระราม รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความเป็นกลางทางคาร์บอน รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผศ.ดร. นรงค์ ฉิมพาลี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร คุณปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ และภูมิสารสนเทศ คุณชนะ ภูมี ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ – การบริหารความยั่งยืน บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) คุณวรายุทธ เย็นบำรุง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการ บริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด คุณธรรมนูญ ตรีเพ็ชร และคุณเจน ชาญณรงค์ กรรมการบริษัท หาญ เอ็นจิเนียริ่ง โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน) ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือ MOU โครงการวิจัยการประเมินการกักเก็บคาร์บอนและสมดุลการตรึงคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิของระบบนิเวศป่าเต็งรังด้วยการสำรวจระยะไกล วันที่ 9 กันยายน พ.ศ.2567 เวลา 11.00 น. ณ ห้องประชุมชั้น 4 อาคารอเนกประสงค์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

.

สำหรับการลงนามฯการประเมินการกักเก็บคาร์บอนและสมดุลการตรึงคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิของระบบนิเวศป่าเต็งรังด้วยการสำรวจระยะไกล สรุปสาระสำคัญโครงการ เป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในการดำเนินโครงการ “การประเมินการกักเก็บคาร์บอนและสมดุลการตรึงคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิของระบบนิเวศป่าเต็งรังด้วยการสำรวจระยะไกล” ภายใต้ชื่อ “โครงการวนภา” มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินโครการเพื่อพัฒนาการตรวจวัด จัดทำบัญชีคาร์บอน และการประเมินคาร์บอนเครดิตจากป่าธรรมชาติ ทั้งส่วนบนดินและส่วนใต้ดิน ด้วยเทคโนโลยีการสำรวจระยะไกล และการประเมินภายใต้มาตรฐานระดับ Tier – 3 เพื่อติดตามการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่เกิดจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่าจากพื้นที่ไฟไหม้ซ้ำซากในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่ปิง จ.ลำพูน

.

โดยมาตรฐานระดับ Tier 3 เป็นการประเมินการแลกเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยวิธี Eddy Covariance Technique ด้วยการใช้ข้อมูลภูมิสารสนเทศและข้อมูลดาวเทียม ประมวลผลร่วมกับการตรวจวัดภาคพื้นดิน ผ่านการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดแบบถาวรบนหอคอย หรือเรียกว่า Flux-Tower ต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง ก่อนนำมาผ่านการคํานวณด้วยโมเดลทางคณิตศาสตร์เพื่อให้ได้ ค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นวิธีที่ ได้มาตรฐาน รวดเร็ว และแม่นยํา

ขณะที่การบริหารจัดการ Carbon Credit จากไฟป่า ที่ตรวจวัดจากอุปกรณ์ Flux-Tower ยังสามารถมอนิเตอร์และสร้างแบบจําลองจุดที่เกิดไฟป่าซํ้าซาก ทำให้สามารถกําหนดมาตรการป้องกันการเกิดไฟป่า พร้อมกับการพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการ Carbon Credit จากไฟป่าโดยให้ประชาชนและชุมชนมีส่วนร่วมการแก้ปัญหาไฟป่า ซึ่งจะได้รับประโยชน์จาก Carbon Credit จากป่า ท้ายที่สุดยังส่งผลดีต่อการบรรเทาและลดปัญหาคุณภาพอากาศจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5

.

ด้านเป้าหมายของโครงการ คือ แนวทางการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของภาคป่าไม้ ตลอดจนสามารถสร้างระบบตรวจวัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการกักเก็บคาร์บอนที่เป็นไปตามมาตรฐานสากลโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทั้ง 8 หน่วยงาน และนำเสนอแนวทางและระบบดังกล่าวต่อองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เพื่อให้เกิดการขยายผลให้ครอบคลุมป่าอนุรักษ์ทั่วประเทศ