สรุปผลการดำเนินงานของมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ ๕ จังหวัด ในห้วงตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๙ จนถึงปัจจุบัน

สรุปผลการดำเนินงานของมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ ๕ จังหวัด

ในห้วงตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๙ จนถึงปัจจุบัน

……………………….

ความเป็นมา

มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ ๕ จังหวัด จัดตั้งขึ้นจากปณิธานและความมุ่งมั่นของ              พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในการสนองพระราชเสาวนีย์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๔๘ ณ พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งขณะนั้น พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ     ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก โดยมีพระราชเสาวนีย์ให้ทหารเป็นหลักในการประสานงาน ดูแลพื้นที่ป่ารอยต่อ ๕ จังหวัด ภาคตะวันออก อนุรักษ์แหล่งน้ำและสัตว์ป่า ให้คน ป่า และสัตว์ป่าอยู่ร่วมกันได้แบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน จัดให้พื้นที่ป่าเป็นแหล่งท่องเที่ยว และให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งขยายไปสู่ประชาชนทั่วประเทศ ให้ช่วยกันรักษาผืนป่าแห่งนี้ด้วย

พระราชเสาวนีย์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สะท้อนให้เห็นถึงพระราชหฤทัยของพระองค์ ที่ทรงห่วงใยสภาพป่ารอยต่อ ๕ จังหวัด เพราะป่ารอยต่อ ๕ จังหวัด ภาคตะวันออกนี้  เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่าของประเทศ เป็นป่าราบต่ำผืนสุดท้ายในเขตชายแดนตะวันออก อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพมหานครมากนัก มีเนื้อที่ครอบคลุมพื้นที่ ๕ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และสระแก้ว ในอดีตมีพื้นที่ป่าถึง ๑๓ ล้านไร่ ปัจจุบันมีเนื้อที่เหลือเพียง ๑ ล้าน ๓ แสนไร่เท่านั้น แต่ยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพรรณไม้และสัตว์ป่าหายากกว่า ๖๐๐ ชนิด อาทิ ช้างป่า กระทิง วัวแดง เก้ง โดยเฉพาะช้างป่าปัจจุบันมีจำนวนกว่า ๔๐๐ ตัว นอกจากนั้น ยังเป็นแหล่งต้นน้ำของแม่น้ำสำคัญหลายสาย เช่น แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำประแสร์ แม่น้ำจันทบุรี

เพื่อเป็นการดำเนินการตามพระราชเสาวนีย์ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้มีดำริให้จัดตั้งองค์กรเพื่อสนับสนุนงานอนุรักษ์ป่ารอยต่อ ๕ จังหวัด โดยในเบื้องต้นได้จัดตั้งเป็น “กองทุนเพื่อป่ารอยต่อ  ๕ จังหวัด ” ต่อมาได้จัดตั้งเป็นมูลนิธิฯ โดยจดทะเบียนเมื่อวันที่      ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ ใช้ชื่อว่า “มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ ๕ จังหวัด” มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานที่ปฏิบัติงานตาม “โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าในพื้นที่ป่ารอยต่อ ๕ จังหวัด (ภาคตะวันออก) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” โดยมี     พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานกรรมการ จนถึงปัจจุบัน

วัตถุประสงค์ของมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ ๕ จังหวัด

๑. เพื่อสนับสนุนโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ และสัตว์ป่าในพื้นที่ป่ารอยต่อ         ๕ จังหวัด (ภาคตะวันออก) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

๒. ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีสวัสดิการ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่พลเรือนรวมทั้งครอบครัว ทั้งในกรณีปกติและกรณีฉุกเฉิน ในขณะปฏิบัติหน้าที่ จนได้รับอันตรายถึงบาดเจ็บหรือเสียชีวิต

๓. ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพันธุ์ไม้ สัตว์ป่าและทรัพยากรธรรมชาติ ในพื้นที่อนุรักษ์ตามกฎหมาย เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อการจัดการโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าในพื้นที่ป่ารอยต่อ ๕ จังหวัด(ภาคตะวันออก) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และการเผยแพร่ให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป

๔. ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจัดการรณรงค์ เพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าภายในโครงการ ตลอดจนสร้างความเข้าใจ และปลูกจิตสำนึกแก่เยาวชน   และประชาชนทั่วไป

๕. ร่วมกับคณะกรรมการบริหารงานโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า ในพื้นที่ป่ารอยต่อ ๕ จังหวัด (ภาคตะวันออก) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในการประเมินผลลัพธ์และผลกระทบของการดำเนินงานโครงการ

๖. เพื่อดำเนินการหรือร่วมกับองค์การการกุศลอื่น ๆ เพื่อสาธารณประโยชน์ และสังคมสงเคราะห์

๗. ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่อย่างใด

พื้นที่ป่ารอยต่อ ๕ จังหวัดที่มูลนิธิฯ ให้การสนับสนุน

          มูลนิธิฯให้การสนับสนุนหน่วยที่ดำเนินงานตาม โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าในพื้นที่ป่ารอยต่อ ๕ จังหวัด(ภาคตะวันออก)อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งมีเนื้อที่รวมประมาณ ๑,๓๐๓,๗๓๓ ไร่ ประกอบด้วย

๑. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน เนื้อที่ ๖๗๔,๓๕๒ ไร่

๒. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว เนื้อที่ ๔๖๕,๖๓๗  ไร่

๓. อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ  เนื้อที่ ๓๖,๔๔๔ ไร่

๔. อุทยานแห่งชาติเขาชะเมา – เขาวง เนื้อที่ ๕๒,๓๐๐ ไร่

๕. อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น เนื้อที่ ๗๕,๐๐๐ ไร่

วิสัยทัศน์ของมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ ๕ จังหวัด

เนื่องจากมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ ๕ จังหวัด เป็นองค์การหรือสถานสาธารณกุศล     ของประกาศกระทรวงการคลัง เป็นลำดับที่ ๘๑๗ ของกรมสรรพากรและเป็นลำดับที่ ๑๒๐     ของกรมสรรพสามิต ซึ่งมูลนิธิฯจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม  ซึ่งมีสาระสำคัญ อาทิ

– มูลนิธิฯ ห้ามหารายได้จากการจัดงานต่างๆ แต่จะมีรายได้จากการบริจาคเงินและสิ่งของจากภาครัฐวิสาหกิจหรือภาคเอกชน เท่านั้น

– รายได้ของมูลนิธิฯ ที่จะนำไปเป็นรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะจะต้องมากกว่า ๖๐% ของรายได้ทั้งสิ้น

ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานของมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ ๕ จังหวัดเป็นไปตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่กำหนดและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้ มูลนิธิฯจึงได้กำหนดวิสัยทัศน์ ดังนี้

“คืนความอุดมสมบูรณ์สู่ผืนป่าภาคตะวันออกให้คน,ป่า และสัตว์ป่า พึ่งพาอาศัยอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน”

ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ป่ารอยต่อ ๕ จังหวัด

ก่อนที่มูลนิธิฯจะดำเนินการให้การสนับสนุนหน่วยงานที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ป่ารอยต่อ    ๕ จังหวัด มูลนิธิฯได้ทำการสืบสภาพว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมีอะไรบ้าง และควรจะแก้ปัญหากันอย่างไร พบว่ามีปัญหาหลายอย่างที่เกิดขึ้นในพื้นที่ป่าแห่งนี้ คือปัญหาที่เกิดจากภัยธรรมชาติเกิดจากสัตว์ป่า และปัญหาที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ พอสรุปสาระสำคัญของปัญหาได้ ดังนี้

๑. ปัญหาการลักลอบตัดไม้และบุกรุกพื้นที่ป่าอนุรักษ์

๒. ปัญหาการลักลอบล่าสัตว์ป่า

๓. ปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ สร้างความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินตลอดจนทำลายพืชผลทางการเกษตรของราษฎร

๔. ปัญหาไฟป่าที่เกิดจากธรรมชาติและจากการกระทำของมนุษย์

๕. ปัญหาการสูญเสียสัตว์ป่าจากอุบัติเหตุทางรถยนต์บนถนนที่ตัดผ่านเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน

แนวทางการแก้ไขปัญหาของมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ ๕ จังหวัด

มูลนิธิฯได้กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยดำเนินการแบบเป็นขั้น  เป็นตอนแบบค่อยเป็นค่อยไป ตามงบประมาณที่มูลนิธิฯจะสามารถให้การสนับสนุนได้ โดยกำหนดเป็นขั้นตอนการปฏิบัติ ๓ ขั้น คือ

๑. ขั้นตอนที่ ๑ โดยสนับสนุนงบประมาณของมูลนิธิฯให้กับหน่วยที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ป่ารอยต่อ ๕ จังหวัด ตามที่ร้องขอ ซึ่งจะใช้มติส่วนใหญ่ของคณะกรรมการมูลนิธิฯในที่ประชุมสามัญประจำปีของมูลนิธิฯในการพิจารณาเห็นชอบ ในแต่ละโครงการหรือแต่ละกิจกรรมที่หน่วยเสนอขอ

๒. ขั้นตอนที่ ๒  เป็นขั้นการกำกับดูแล การปฏิบัติของหน่วย ที่ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธิฯ โดยวิธีสุ่มตรวจการปฏิบัติงานของหน่วย

๓. ขั้นตอนที่ ๓ เป็นขั้นการช่วยประสานงานกับส่วนราชการต่างๆ เมื่อได้รับการร้องขอจากหน่วยงานในพื้นที่ป่า โดยจะช่วยประสานในทุกกระทรวง ทบวง กรม เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว หรือเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่หน่วยต้องการ

การดำเนินงานของมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ ๕ จังหวัด

หลังจากสืบสภาพถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ป่ารอยต่อ ๕ จังหวัด มูลนิธิฯ ก็ได้กำหนดการช่วยเหลือเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในลักษณะต่างๆ และให้การสนับสนุนงบประมาณตามที่หน่วยร้องขอ โดยได้ดำเนินการ ดังนี้

๑. โครงการในลักษณะสนับสนุนให้มีสวัสดิการ เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อย ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ป่ารอยต่อ ๕ จังหวัด ซึ่งโครงการดังกล่าว หน่วยในพื้นที่ป่า ไม่เคยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยเหนือหรือองค์กรใดๆ มาก่อน เช่น

๑.๑ การมอบทุนการศึกษาให้กับบุตร-ธิดาของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ป่ารอยต่อ ๕ จังหวัด เป็นประจำทุกปี โดยในระดับชั้นประถมศึกษาได้รับรายละ ๓,๐๐๐ บาท    ในระดับชั้นมัธยมศึกษาได้รับรายละ ๕,๐๐๐ บาท และในระดับอุดมศึกษาและปวส.ได้รับ     รายละ ๑๐,๐๐๐ บาท โดยมีผู้ขอรับทุนการศึกษา จำนวนประมาณ ๔๐๐ คนต่อปี

๑.๒ การประกันชีวิตกลุ่มให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ในพื้นที่ป่ารอยต่อ         ๕ จังหวัด โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ในการออกลาดตระเวนในพื้นที่ป่าและเจ้าหน้าที่  ที่ทำหน้าที่เป็นหน่วยเคลื่อนที่เร็ว เพื่อเฝ้าระวังติดตามและผลักดันช้างป่า โดยมูลนิธิฯได้ดำเนินการทำประกันชีวิตให้เป็นประจำทุกปี โดยผู้เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่หรือจากอุบัติเหตุจะได้รับเงินค่าสินไหมทดแทน รายละ ๓๐๐,๐๐๐ บาท และถ้าเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยจะได้รับเงินค่าสินไหมทดแทน รายละ ๕๐,๐๐๐ บาท โดยมีผู้สมัครใจขอทำประกันชีวิตจำนวนประมาณ ๙๐๐ คนต่อปี

๑.๓ การมอบเงินสงเคราะห์ช่วยเหลือให้กับราษฎรที่ถูกสัตว์ป่าทำร้าย เช่น ช้าง หรือหมี เป็นต้น จนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ในเขตพื้นที่ป่ารอยต่อ ๕ จังหวัด หรือช่วยเหลือให้กับราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ช้างป่า ที่ช่วยปฏิบัติงานสนับสนุนร่วมกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ซึ่งจะได้รับเงินสงเคราะห์ช่วยเหลือจากมูลนิธิฯ โดยผู้เสียชีวิตจะได้รับเงิน จำนวนรายละ ๑๐,๐๐๐ บาท และผู้ได้บาดเจ็บจะได้รับเงิน จำนวนรายละ ๕,๐๐๐ บาท ซึ่งมีผู้ขอรับเงินสงเคราะห์ช่วยเหลือประมาณ ๑๐ รายต่อปี

๑.๔ การมอบของขวัญและอวยพรปีใหม่ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติในพื้นที่ป่ารอยต่อ ๕ จังหวัด โดยจะทำพิธีมอบของขวัญในห้วงปีใหม่ของทุกปี ซึ่งใน    แต่ละปีจะมีผู้รับมอบถุงของขวัญ จำนวนประมาณ ๑,๕๐๐ คน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่จากหน่วยทหาร อาทิ กองกำลังบูรพา, กรมทหารพานที่ ๑๓, กองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด เป็นต้นและเจ้าหน้าที่จากหน่วยที่สังกัดกรมอุทยานแห่งชาติฯและกรมป่าไม้ โดยมูลนิธิฯ จะหมุนเวียนสถานที่ในการมอบของขวัญและอวยพรปีใหม่ เป็นประจำทุกปี ซึ่ง                 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะเดินทางไปพร้อมกับคณะกรรมการมูลนิธิฯ,ที่ปรึกษามูลนิธิฯ         และคณะอนุกรรมการมูลนิธิฯ ในการมอบของขวัญทุกครั้ง

๑.๕ การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ

จากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นเป็นประจำเกือบทุกปีอาทิ ในห้วงปี ๒๕๕๔-๒๕๕๕ ประเทศไทยประสบอุทกภัยครั้งรุนแรงที่สุด กระจายตัวไปทั่วทุกภาคของประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางที่เกิดน้ำท่วมหนักเป็นระยะเวลานาน โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ เช่น      พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ส่งผลให้เกิดความเสียหายอย่างหนักต่อชีวิตและทรัพย์สิน มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ ๕ จังหวัด จึงได้ดำเนินการแจกจ่ายถุงยังชีพช่วยเหลือเบื้องต้นให้กับผู้ที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ดังกล่าว โดยสิ่งของดังกล่าวได้รับการบริจาคจากภาคเอกชนและมูลนิธิฯ ได้สมทบเงินจัดซื้อสิ่งของมาอีกส่วนหนึ่ง โดยคณะกรรมการมูลนิธิฯได้เดินทางไปแจกจ่ายจนถึงมือผู้ประสบภัยในพื้นที่ นอกจากนั้น มูลนิธิฯยังได้รับมอบผ้าห่มจากภาคเอกชนจำนวนหลายหมื่นผืน เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ในพื้นที่ตามแนวชายแดนและราษฎรที่ยากไร้ซึ่งได้รับความเดือดร้อนจากภัยหนาว ทั้งภาคตะวันออก ภาคเหนือและภาคอีสาน อีกด้วย  สำหรับถังน้ำขนาด ๑,๕๐๐ ลิตรที่บริษัทในเครือ ปตท.ได้บริจาคให้กับมูลนิธิฯ เป็นประจำทุกปี จำนวนปีละ ๒๐๐ ถัง มูลนิธิฯ ได้นำไปแจกจ่ายให้กับส่วนราชการในพื้นที่ป่ารอยต่อ ๕ จังหวัด ตลอดจนแจกจ่ายให้กับชุมชน,หมู่บ้าน,วัดและโรงเรียน

๒. โครงการที่มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ ๕ จังหวัด สนับสนุนงบประมาณตามยุทธศาสตร์ของมูลนิธิฯ

เนื่องจากหน่วยที่ปฏิบัติงานตามโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าในพื้นที่ป่ารอยต่อ ๕ จังหวัด (ภาคตะวันออก) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้รับงบประมาณใน  แต่ละปีค่อนข้างจำกัด จึงทำให้ผลการปฏิบัติงานตามโครงการต่างๆไม่ได้ผลสมบูรณ์อย่างเต็มที่ ดังนั้น มูลนิธิฯจึงสนับสนุนงบประมาณให้กับหน่วยที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ป่ารอยต่อ ๕ จังหวัดตามที่ร้องขอในรูปของโครงการต่างๆ เพื่อเสนอให้คณะกรรมการมูลนิธิฯ ได้พิจารณาให้การสนับสนุนในแต่ละปี โดยมีโครงการของหน่วยต่างๆ ดังนี้

๒.๑ โครงการของกองกำลังบูรพาที่ดำเนินการในพื้นที่ อาทิ

– โครงการลาดตระเวนป้องกันการตัดไม้ทำลายป่าและล่าสัตว์ป่าโดยทำการลาดตระเวนทั้งทางพื้นดินและทางอากาศ(โดยใช้ร่มบิน)

– โครงการฝึกอบรมเยาวชนให้ร่วมพิทักษ์ป่ารอยต่อ ๕ จังหวัด        โดยอบรมเยาวชน เป็นเวลาประมาณ ๒ วัน ๑ คืน มีผู้เข้าร่วมการอบรมประมาณ ๑๐๐ คน

– โครงการฝึกอบรมราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่ารอยต่อ ๕ จังหวัดโดยอบรมราษฎรในพื้นที่บริเวณรอบป่า เป็นเวลา ๑ วัน มีการปลูกจิตสำนึกให้อนุรักษ์ป่า รู้จักคุณค่าของป่า ไม่บุกรุกตัดไม้ทำลายป่าและล่าสัตว์ป่า ตลอดจนให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายป่าไม้ และให้ราษฎรเป็นเครือข่ายให้กับหน่วยงานของรัฐในการแจ้งเบาะแสต่างๆ

๒.๒ โครงการของกรมทหารพรานที่ ๑๓ ที่ได้ดำเนินการในพื้นที่ อาทิ

– โครงการลาดตะเวนทางพื้นดินเพื่อป้องกันปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ร.บ.ป่าไม้

– โครงการลาดตระเวนทางอากาศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันและปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ร.บ.ป่าไม้

– โครงการฝึกอบรมการดับไฟป่า โดยอบรมราษฎรให้รู้จักการดับไฟป่าที่ถูกต้อง เพื่อเป็นการช่วยหน่วยงานภาครัฐ พร้อมกับจัดหาอุปกรณ์ดับไฟป่าให้ด้วย

– โครงการสร้างเครือข่ายประชาชน โดยการอบรมราษฎรในพื้นที่

– โครงการเสาธง ๕ นาที โดยทำการอบรมให้กับนักเรียนตามโรงเรียนต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่บริเวณรอบป่า โดยใช้เวลาในช่วงตอนเช้า

๒.๓ โครงการของกองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด อาทิ

– โครงการลาดตระเวนทางอากาศโดยใช้ร่มบิน

– โครงการลาดตระเวนทางพื้นดินร่วมกับหน่วยอุทยานป่าไม้ในพื้นที่

– โครงการฝึกอบรมราษฎรในการป้องกันและดับไฟป่า

– โครงการคืนปืนคืนชีวิตให้สัตว์ป่า

๒.๔ โครงการของหน่วยที่สังกัดกรมอุทยานแห่งชาติฯและกรมป่าไม้

หน่วยที่สังกัด กรมอุทยานแห่งชาติฯและกรมป่าไม้ในพื้นที่ป่ารอยต่อ    ๕ จังหวัด ประกอบด้วย สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๑ (ปราจีนบุรี) สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๒ (ศรีราชา) สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ ๙ (ชลบุรี) และสำนักจัดการทรัพยากรที่ ๙ สาขาปราจีนบุรี ได้ดำเนินการฝึกอบรมตามยุทธศาสตร์ของมูลนิธิฯเช่นเดียวกัน คือ อบรมเยาวชนและอบรมราษฎร เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า ตลอดจนฝึกอบรมให้ราษฎร ในหลักสูตรป้องกันและดับไฟป่า เช่นเดียวกัน

๓. โครงการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระเจริญพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๕

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ     พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงพระราชทานเงิน ๘๐ ล้านบาท ให้แก่มูลนิธิฯ โดย สำนักงาน กสทช. เป็นผู้ทูลเกล้าฯถวาย

ทางมูลนิธิฯจึงได้จัดทำ“โครงการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระเจริญพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๕” ประกอบด้วย ๔ โครงการ คือ

๓.๑ โครงการขุดคูกันช้าง ในส่วนที่เหลืออยู่ เพื่อป้องกันช้างป่าออกนอกพื้นที่ ระยะทาง ๓๓๐ กิโลเมตร เพื่อเป็นการป้องกันช้างป่าไม่ให้ออกมาทำลายพืชผลทางการเกษตรของราษฎร โดยกองพันทหารช่างที่ ๒ รักษาพระองค์ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ

๓.๒ โครงการปลูกป่าให้ทั่วพื้นที่ป่ารอยต่อ ๕ จังหวัด เพื่อซ่อมแซมผืนป่าที่ถูกบุกรุกแผ้วถางทำลาย โดยจะมีหน่วยงานในพื้นที่ดูแลรับผิดชอบตลอด ๓ ปี จนกว่าต้นไม้สามารถเจริญงอกงามต่อไปได้ โดยกองทัพภาคที่ ๑ (กองกำลังบูรพา) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ

๓.๓ โครงการขุดสระน้ำตื้นกระจายทั่วทั้งพื้นที่ เพื่อเป็นแหล่งน้ำและอาหารของสัตว์ป่า โครงการจัดทำแหล่งน้ำ จำนวน ๘๐ แห่ง และโครงการสร้างฝายต้นน้ำตามแนวพระราชดำริ เป็นฝายแบบผสมผสาน จำนวน ๙๕๐ แห่งและฝายแบบกึ่งถาวร จำนวน ๔๐ แห่ง โครงการเพาะชำกล้าไม้เป็นกล้าไม้ขนาดเล็ก จำนวน ๒๐๐,๐๐๐ กล้า และเป็นกล้าไม้ขนาดใหญ่ จำนวน ๖๐๐,๐๐๐ กล้า โดยสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๒ (ศรีราชา) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ

๓.๔ โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรในพื้นที่ให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น โดยจะเป็นการลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ เป็นการสร้างอาชีพเสริมให้กับราษฎรในพื้นที่ ไม่ให้เข้าไปบุกรุกทำลายสัตว์ป่า ดำเนินการใน ๕  หมู่บ้านนำร่องในพื้นที่ป่ารอยต่อทั้ง ๕ จังหวัด โดยมีหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ ๑๒ และ ๑๔ หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ

โครงการป้องกันช้างป่าออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ ๕ จังหวัดให้การสนับสนุนงบประมาณ

ความเป็นมา ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง ได้เกิดขึ้นมานานนับ ๑๐ กว่าปีแล้วและปัจจุบันได้ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น จนถึงขั้นวิกฤติ เนื่องจากช้างป่ามีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันมีมากกว่า ๔๐๐ ตัว จึงทำให้พื้นที่ป่ามีแหล่งน้ำ แหล่งอาหารไม่เพียงพอ ดังนั้น ช้างจึงออกจากป่าเพื่อหากิน และเกิดการปะทะกับราษฎร ที่อาศัยอยู่บริเวณรอบป่ารอยต่อ ๕ จังหวัด ทำให้ราษฎรได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

๑. โครงการขุดคูกันช้าง

เริ่มในปี ๒๕๕๕ เป็นต้นมา ในพื้นที่ป่ารอยต่อ ๕ จังหวัด โดยมูลนิธิฯ ได้ร่วมมือกับส่วนราชการระดับจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล และหน่วยทหารในพื้นที่ โดยมูลนิธิฯได้ให้การสนับสนุนงบประมาณดำเนินการตามโครงการดังกล่าว เป็นระยะทาง ๓๓๐ กิโลเมตร จากระยะทางทั้งสิ้นประมาณ ๖๐๐ กิโลเมตร สำหรับงบประมาณค่าใช้จ่ายในการดำเนินการกิโลเมตรละ ๑๕๐,๐๐๐ บาท โดยมีกองพันทหารช่างที่ ๒ รักษาพระองค์เป็นหน่วยรับผิดชอบ

๒. โครงการปรับปรุงคูกันช้าง

เนื่องจากคูกันช้างที่ขุดไว้ มีสภาพเป็นดินปนทราย ประกอบกับฝนที่ตกลงมาในพื้นที่ป่า ทำให้เกิดการพังทลายของดิน จึงเป็นผลให้คูกันช้างเกิดการตื้นเขิน ส่งผลให้ช้างป่าออกหากินนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ สร้างปัญหาความเดือดร้อนต่อชีวิต ทรัพย์สิน และพืชผลทางการเกษตรของราษฎร

ทางมูลนิธิฯได้ให้การสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการปรับปรุงคูกันช้างให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมระยะทางประมาณ ๗๖ กิโลเมตร สำหรับงบประมาณค่าใช้จ่ายในการดำเนินการกิโลเมตรละ ๒๓๒,๐๐๐ บาท โดยมีกองกำลังบูรพาและสำนักงานพัฒนาภาค ๑     หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย เป็นหน่วยรับผิดชอบ

๓. โครงการจัดสร้างรั้วกันช้าง

เนื่องจากช้างป่าออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ออกมาทำลายชีวิตและทรัพย์สินของราษฎรที่อาศัยบริเวณรอบป่า ถือเป็นปัญหาวิกฤตที่เกิดขึ้น  ทางสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๒ (ศรีราชา) ได้มีแนวคิดว่า  ถ้าสร้างรั้วกันช้างบนแนวคูที่ได้ปรับปรุงแล้ว เป็นช่วง ๆ จะสามารถสกัดกั้นช้างป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีผลการทดสอบแล้วว่า ช้างป่าไม่สามารถเดินผ่านรั้วกันช้างเข้ามาได้

ทางมูลนิธิฯ จึงได้ให้การสนับสนุนงบประมาณ ในการดำเนินการจัดสร้างรั้วกันช้างบนแนวคูกันช้าง เพื่อทำให้การป้องกันช้างป่ามีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมระยะทางประมาณ    ๕ กิโลเมตร ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา สำหรับงบประมาณค่าใช้จ่ายในการดำเนินการประมาณกิโลเมตรละ ๑,๑๙๐,๐๐๐ บาท โดยมีกองกำลังบูรพาเป็นหน่วยรับผิดชอบ รวมถึงได้รับการสนับสนุนงบประมาณและการดำเนินโครงการจากกองบัญชาการกองทัพไทย ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี เป็นระยะทาง ๘ กิโลเมตร อีกด้วย

โครงการปรับปรุงเส้นทางอ้อมเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน

ความเป็นมา ถนนหมายเลข ๓๐๗๖ (เดิม ๓๒๕๙) ตัดผ่านเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า     เขาอ่างฤๅไน ระยะทางประมาณ ๑๕ กิโลเมตรโดยเริ่มจากอำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา สิ้นสุดที่ หน่วยพิทักษ์ป่าซับวัวแดง อำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว  สร้างเพื่อใช้เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ทางทหารเพื่อการส่งกำลังบำรุงทางทหาร ต่อมาได้ใช้เป็นเส้นทางในการคมนาคมขนส่งของประชาชนทั่วไป อาทิ ใช้ขนส่งพืชผลทางการเกษตรของราษฎร,ให้บุตรหลานใช้เดินทางไปโรงเรียนและอื่น ๆ

จากการวิจัยของนักวิชาการในปี ๒๕๔๔ (โดย ดร.ไสว วังหงษา นักวิชาการป่าไม้และคุณกัลยาณี บุญเกิด นักวิทยาศาสตร์ ได้ร่วมกันทำการสำรวจวิจัยในห้วง ๑ ปี จาก ต.ค. ๔๑ – ก.ย. ๔๒ สรุปผลเสร็จสิ้นในปี ๔๔ ) พบว่า มีสัตว์ป่าถูกรถยนต์ชน โดยในช่วงระยะเวลา  ๑ ปี มีสัตว์ป่าเสียชีวิตประมาณ ๒,๙๐๐ ตัว และพบว่ามีสัตว์ป่าที่ถูกรถยนต์ชนซึ่งมักจะเกิดเหตุในช่วงเวลากลางคืน ประมาณ ๒,๗๐๐ ตัว เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๒ (ศรีราชา) ได้เสนอเรื่องให้มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ ๕ จังหวัด ช่วยประสานงานกับกรมทางหลวงชนบท ทดลองปิดถนนชั่วคราวในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งจากการปิดถนนปรากฏว่า สามารถลดการตายของสัตว์ป่าลงได้ในระดับหนึ่ง

ต่อมาทางมูลนิธิฯ ได้พิจารณาหนทางในการแก้ไขปัญหาข้างต้น โดยได้ทำการสำรวจและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการหาเส้นทางอ้อมผ่านเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า    เขาอ่างฤๅไน สรุปได้ว่า จะใช้การปรับปรุงเส้นทางถนนที่มีอยู่เดิมแล้ว โดยในบางจุดจะทำการขยายขนาดให้ใหญ่ขึ้น รวมทั้งในบางจุดจะมีการก่อสร้างเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดความเหมาะสม

หลังจากได้ทำการสำรวจเส้นทางที่เหมาะสมที่สุดแล้ว ในที่สุดพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานกรรมการมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ ๕ จังหวัด ได้ผลักดันให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณ ในการก่อสร้างเส้นทางอ้อมเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน สายบ้านคลองตะเคียน อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา ถึงบ้านหนองเรือ อำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว ระยะทางประมาณ ๖๖.๖๘ กิโลเมตร หลังจากที่ถนนได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ จะทำการปิดถนนหมายเลข ๓๐๗๖ เป็นการถาวร ซึ่งคาดว่าถนนอ้อมเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน จะแล้วเสร็จและสามารถใช้งานได้ภายในปี ๒๕๖๓

 

แนวความคิดในการแก้ไขปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ของมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด

ปัญหาที่เป็นอุปสรรคสำคัญในพื้นที่ป่ารอยต่อในปัจจุบัน ก็คือ ปัญหาราษฎรที่อาศัยอยู่บริเวณรอบพื้นที่ป่ารอยต่อ ๕ จังหวัด ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก จากช้างป่าซึ่งในปัจจุบันมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นกว่า ๔๐๐ ตัวแล้ว โดยช้างป่าเหล่านี้ ได้ออกหากินนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ สร้างความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนทำลายพืชผลทางการเกษตรของราษฎร ทางมูลนิธิฯ ได้พิจารณาหาทางแก้ไข โดยสนับสนุนงบประมาณจำนวนหนึ่ง ร่วมกับส่วนราชการระดับจังหวัด และองค์การบริหารส่วนตำบลในระดับท้องถิ่น ทำการขุดคูกันช้าง เพื่อยับยั้งไม่ให้ช้างป่าข้ามมายังฝั่งที่ราษฎรอาศัยอยู่ เป็นระยะทางรวมทั้งสิ้นประมาณ ๖๐๐ กิโลเมตร                   แต่เนื่องจากพื้นดินเป็นดินทราย จึงทำให้คูกันช้างพังทลายเป็นบางจุด โดยเฉพาะช่วงเวลาที่มีฝนตกหนัก จึงทำให้คูกันช้างมีความตื้นเขินและช้างป่าสามารถเดินข้ามคูกันช้างเข้ามาได้

แนวทางแก้ไขปัญหาของมูลนิธิฯ  การที่จะยับยั้งไม่ให้ช้างป่าข้ามคูกันช้างมายังพื้นที่อยู่อาศัยของราษฎร ภาครัฐจำเป็นต้องสนับสนุนงบประมาณเป็นจำนวนมาก เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว คือ

๑. ทำการขุดคูกันช้างในส่วนที่เหลืออยู่ ให้รอบพื้นที่ป่ารอยต่อ ๕ จังหวัด

๒. ทำการปรับปรุงขุดคูกันช้างที่ตื้นเขิน เพื่อให้คูกันช้างเป็นอุปสรรคสำคัญ ในการขัดขวางช้างป่า

๓. ทำการสร้างรั้วกันช้างบนแนวคูกันช้าง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสกัดกั้น   ช้างป่า ให้ครบสมบูรณ์ตลอดแนวรอบพื้นที่ป่า

๔. ต้องสร้างแหล่งน้ำ แหล่งอาหารขนาดใหญ่ ทั่วทั้งพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพื่อให้มีความอุดมสมบูรณ์และเพียงพอต่อการใช้ชีวิตในป่าของช้างป่า

บังเอิญ ชาญด้วยกิจ/รายงาน