ออกก่อนอ่อนต้องไม่มี เริ่มแล้ว อ.เมือง จ.ตราด นำร่อง “หมู่บ้านปลอดทุเรียนอ่อน” หวังแก้ปัญหาทุเรียนอ่อนเข้าสู่ตลาด !!

ออกก่อนอ่อนต้องไม่มี เริ่มแล้ว อ.เมือง จ.ตราด นำร่อง “หมู่บ้านปลอดทุเรียนอ่อน” หวังแก้ปัญหาทุเรียนอ่อนเข้าสู่ตลาด !!

มีรายงานว่า นายอำเภอเมือง จ.ตราด และ ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน เกษตรจังหวัดฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมกับนายศักดินัย นุ่มหนู ประธานคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร พร้อมที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการเกษตรฯ ที่ อ.เมือง จ.ตราด เพื่อวางแผนป้องกันทุเรียนด้อยคุณภาพ หรือทุเรียนอ่อน ถูกตัดนำเข้าสู่ตลาดในช่วงต้นฤดูกาลนี้

นายศักดินัย นุ่มหนู ประธานคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร บอกว่า ปีนี้เครือข่ายพิทักษ์ทุเรียนไทย ประสานมาที่คณะกรรมาธิการการเกษตรฯ ให้ช่วยเป็นตัวกลางร่วมแก้ปัญหาทุเรียนอ่อน ถูกตัดเข้าสู่ตลาด เพราะจะทำให้ผู้ค้าปลายทางได้ทุเรียนไม่ดีไปขาย และจะส่งผลกระทบกับวงการทุเรียนไทยตั้งแต่ต้นปีในภาคตะวันออก ไปจนถึงปลายปีคือทุเรียนในภาคใต้ ซึ่งในพื้นที่ภาคตะวันออก ทุเรียนในเขต อ.เมือง จ.ตราด รวม 5 ตำบล คือ ตำบลอ่าวใหญ่ / ห้วงน้ำขาว / ชำราก / แหลมกลัด / ตะกาง จะมีผลผลิตออกสู่ตลาดก่อนพื้นที่อื่น รวมๆ 100,000 ตัน และที่ผ่านมามีความพยายามแก้ปัญหาทุเรียนอ่อนถูกตัดออกสู่ตลาด แต่ก็ยังมีผลผลิตไม่ได้คุณภาพหลุดออกไปถึงปลายทาง จึงทำให้ชื่อเสียงทุเรียน จ.ตราด เสียหาย เพราะเป็นพื้นที่ที่ทุเรียนออกก่อนและตัดก่อน

“ วันนี้ กมธ.การเกษตรฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้หารือและวางแผนป้องกันผลผลิตไม่ได้คุณภาพออกสู่ตลาด ด้วยการจัดทำหมู่บ้านปลอดทุเรียนอ่อน โดยขอให้ฝ่ายปกครอง และผู้นำชุมชน ทุกระดับติดตามและเฝ้าระวังการตัดทุเรียนที่ไม่ได้คุณภาพในแต่ละพื้นที่ และหากมีข้อมูลแจ้งกลับมาที่ กมธ.การเกษตรฯ ซึ่งจะมีเครือข่ายพิทักษ์ทุเรียนไทย ร่วมด้วย เมื่อตรวจสอบข้อมูลพบมีหลักฐานจะประสานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นทาง หรือในสวน ” ปธ.กมธ.การเกษตรฯ กล่าว

นายชลธี นุ่มหนู นายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยภาคตะวันออกและที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ บอกว่า ทุเรียนใน จ.ตราด ออกผลผลิตและตัดก่อนจังหวัดอื่น แต่ละปีมีการตัดเบียด หรือตัดรูด จนทำให้มีทุเรียนไม่ได้คุณภาพถูกนำเข้าตลาด เมื่อตรวจสอบกลับพบเป็นทุเรียนที่ตัดมาจาก อ.เมืองตราด ทำให้เกิดความเสียหายกับทางจังหวัดตราด และคนจะเหมาว่าทุเรียนทั้งจังหวัดไม่ได้คุณภาพ การจัดทำหมู่บ้านปลอดทุเรียนอ่อน หวังให้เกษตรกรชาวสวนรักษาคุณภาพผลผลิตตั้งแต่ต้นทาง หากจัดการได้ตั้งแต่ต้นทางก็จะไม่มีทุเรียนด้อยคุณภาพ หรือทุเรียนอ่อน ถูกตัดออกไป หากมีก็จะมีน้อยที่สุด

“ การใช้กลไกหมู่บ้านมาเป็นตัวขับเคลื่อน โดยเฉพาะฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน มาเป็นหูเป็นตาช่วยแก้ปัญหาร่วมกัน จะทำได้ดีที่สุด เพราะเป็นคนพื้นที่ รู้พื้นที่จริง และรู้ว่าสวนไหนทุเรียนได้คุณภาพหรือไม่ได้คุณภาพ ” ที่ปรึกษา กมธ.การเกษตรฯ กล่าว และว่า หากหมู่บ้านใดใน จ.ตราด ไม่มีทุเรียนด้อยคุณภาพถูกตัดออกสู่ตลาด คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ จะมีประกาศนียบัตรมอบให้ เพื่อเป็นสิ่งยืนยันว่า หมู่บ้านนั้นๆ ไม่มีทุเรียนอ่อนถูกตัดไปขาย และยังเป็นการสร้างจิตสำนึกร่วมกันให้ช่วยรักษาผลผลิตทุเรียนให้ได้คุณภาพ เพราะเป็นอาชีพที่สืบต่อรุ่นต่อรุ่น หากมีความเสียหายและตลาดปลายทางไม่ต้องการยิ่งจะเป็นผลเสียเพราะประเทศคู่แข่งจะชิงพื้นที่ส่วนแบ่งทางการตลาด

น.ส.ญาณธิชา บัวเผื่อน เลขาธิการคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ (เลขา กมธ.การเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร) บอกว่า เมื่อภาคประชาชนร่วมมือกันแก้ปัญหาผลผลิตทุเรียนไม่ได้คุณภาพตั้งแต่ต้นทาง ภาครัฐต้องร่วมแก้ปัญหาด้วย โดยเฉพาะปัญหาใบ GAP หรือ แบบคำขอใบรับรองแหล่งผลิตพืช (Good Agricultural Practices) และ DOA หรือ หนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืช ของโรงงานผลิตสินค้าพืชของล้ง ที่มีการสวมกัน เห็นได้จากเคสล้งใน จ.จันทบุรี ที่ถูกนำ DOA ไปใช้โดยไม่ได้รับอนญาต และชาวสวนทุเรียนนครศรีธรรมราช ที่มีการนำ GAP สวนทุเรียนตัวเองไปใช้ส่งออกทุเรียนโดยไม่ได้รับอนุญาต ถือเป็นเรื่องใหญ่ในวงการผลไม้และการส่งออก เพราะเท่ากับว่าเป็นการสวมสิทธิ์ของเจ้าของสิทธิ์ตัวจริง และทำให้เกิดความเสียหายกับเจ้าของสินค้าและประเทศไทย สำคัญกระบวนการขั้นตอนสุดท้ายก่อนปล่อยสินค้าเจ้าหน้าที่รัฐ จะต้องเป็นผู้ตรวจสอบ และปล่อยให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นได้อย่างไร เรื่องนี้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมวิชาการเกษตร ต้องทำความจริงให้กระจ่าง ก่อนถึงฤดูผลไม้ภาคตะวันออก และต้องนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ เพื่อให้ผู้คิดไม่ดีเห็นว่า ภาครัฐมีบทลงโทษ และมีมาตรการเด็ดขาด

#ตอบให้เคลียร์
cr. เสกสม แจ้งจิต