กรมทรัพยากรน้ำ เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 2/2566 เพื่อร่วมบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศให้ดำเนินไปอย่างเป็นระบบ
กรมทรัพยากรน้ำ เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 2/2566 เพื่อร่วมบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศให้ดำเนินไปอย่างเป็นระบบ
*********************************
วันนี้ (26 ต.ค. 66) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 2/2566 โดยมีนายภาดล ถาวรกฤชรัตน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ นายสุเมธ สายทอง รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ นายนเรศ ชมบุญ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน นายพงศ์พัฒน์ เสมอคำ ผู้อำนวยการกองวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์น้ำ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ เป็นต้น รวมทั้งผู้แทนคณะกรรมการลุ่มน้ำ และผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุม 301 ชั้น 3 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
ในวันนี้เป็นการประชุมครั้งแรกของ กนช. ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ในคณะรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งประกอบไปด้วยผู้แทนจากทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศให้ดำเนินไปอย่างเป็นระบบ ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบต่อ (ร่าง) นโยบายการบริหารทรัพยากรน้ำของ กนช. โดยมอบหมาย สทนช. บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดขับเคลื่อนแผนงาน โครงการภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (ปรับปรุงครั้งที่ 1 พ.ศ. 2566-2580) ให้ครอบคลุมนโยบายดังกล่าว และเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)
ที่ประชุมได้เห็นชอบต่อแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้งตามที่คณะกรรมการลุ่มน้ำเสนอ จำนวน 10 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่าง และลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีมติเห็นชอบต่อหลักเกณฑ์ โครงสร้างและขั้นตอนการปฏิบัติงาน
ตามมาตรา 24 แห่ง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 เนื่องด้วยกรอบโครงสร้างศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจและแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาวิกฤติน้ำตามมาตราดังกล่าว แต่เดิมเป็นการดำเนินการเฉพาะปัญหาอุทกภัยเพียงอย่างเดียว สทนช. จึงได้ทบทวนและหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและนักวิชาการ เห็นควรให้มีการดำเนินการให้ครอบคลุมทุกปัญหาด้านน้ำ ทั้งปัญหาอุทกภัย ภัยแล้ง และปัญหาคุณภาพน้ำ และได้จัดทำหลักเกณฑ์โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ ซึ่งเป็นไปตามลักษณะความรุนแรง โครงสร้างและขั้นตอนการปฏิบัติงาน เพื่อใช้สำหรับการแก้ปัญหาวิกฤติน้ำในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
บังเอิญ ชาญด้วยกิจ/รายงาน