“เขาใหญ่” เข้า High Season เพิ่มมาตรการอารักขาสัตว์ป่าและดูแลนักท่องเที่ยว

“เขาใหญ่” เข้า High Season เพิ่มมาตรการอารักขาสัตว์ป่าและดูแลนักท่องเที่ยว

นายชัยยา ห้วยหงษ์ทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่กล่าวว่า ได้เพิ่มมาตรการในการดูแลนักท่องเที่ยวและอารักขาสัตว์ป่าในช่วงวันหยุดยาวสุดสัปดาห์ระหว่างวันที่ 21-23 ตุลาคม 2566 เนื่องจากคาดว่า จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาวันละไม่ต่ำกว่า 10,000 คนเนื่องจากระยะนี้อากาศเริ่มเย็นและเข้าสู่ช่วง High Season ของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยเมื่อวันหยุดยาวสัปดาห์ที่ผ่านมา ในวันศุกร์ที่ 13 ตุลาคมมีนักท่องเที่ยว 12,000 คน วันเสาร์ที่ 14 ตุลาคมมี 16,000 คน และวันอาทิตย์ที่ 15 ตุลาคมมี 12,000 คน ส่วนวันธรรมดาในสัปดาห์นี้มีวันละประมาณ 5,000 คน ดังนั้นจึงได้เพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจต่างๆ และเพิ่มจุดบริการนักท่องเที่ยวเพื่ออำนวยความสะดวก รวมถึงกู้ภัยซึ่งอาจเกิดอุบัติเหตุเล็กๆ น้อยๆ

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ขอความร่วมมือนักท่องเที่ยวปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนด ที่สำคัญคือ “4 ม + 1” โดย “4 ม” ประกอบด้วย

– ม ที่ 1 ไม่ให้อาหารสัตว์ป่าเพราะพฤติกรรมสัตว์ป่าจะเปลี่ยนไป จากการหากินต้นไม้ใบหญ้าในป่ากลายเป็นมารอหากินอาหารและขนมจากคน โดยไม่รู้ว่า กลิ่นหอมหวานแปลกรสนั้นอันตรายถึงชีวิต
– ม ที่ 2 ไม่ขับรถเร็วและชะลอความเร็วหรือหยุดรถเมื่อเจอสัตว์ป่า ที่ผ่านมาลิงและสัตว์ป่าจำนวนไม่น้อยที่จบชีวิตลงบนถนนในอุทยานแห่งชาติ บางส่วนพิการ
– ม ที่ 3 ไม่ทิ้งขยะ หลายปีก่อนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่พบกวางตัวใหญ่ล้มตายลงอย่างผิดสังเกต เมื่อสัตวแพทย์ผ่าพิสูจน์กลับพบถุงพลาสติกและขยะจำนวนมากในท้องกวาง
– ม ที่ 4 ไม่ส่งเสียงดังเพราะป่าคือบ้านของสัตว์ป่า การเข้าไปของนักท่องเที่ยวถ้าเสียงดังเกินไปจะรบกวนสัตว์ป่าได้ ทั้งยังรบกวนคนรอบข้างที่ต้องการเข้าไปเรียนรู้ธรรมชาติอีกด้วย

สำหรับ “+1” คือ ไม่นำสัตว์เลี้ยงเข้ามาในอุทยานแห่งชาติเพื่อป้องกันไม่ให้โรคจากสัตว์เลี้ยงติดต่อสู่สัตว์ป่าและโรคจากสัตว์ป่าติดต่อสู่สัตว์เลี้ยง

ส่วนมาตรการห้ามเข้าถ่ายภาพช้างป่าในระยะใกล้ยังดำเนินการอย่างเคร่งครัด ทั้งเพื่อไม่ให้เป็นการกดดันช้างป่าซึ่งเข้าสู่ห้วงตกมันแล้ว อีกทั้งบางโขลงมีลูกน้อย หากช้างเครียดอาจหันมาทำร้ายนักท่องเที่ยวได้จึงให้อยู่ห่างไม่ต่ำกว่า 50 เมตรและทำตามข้อปฏิบัติ 10 ประการอย่างเคร่งครัด ดังนี้

1. หยุดรถให้ห่างจากช้างอย่างน้อย 50 เมตร
2. อย่าใช้แตรรถ หรือส่งเสียงดังรบกวนช้างหรือไล่ช้าง
3. งดการใช้แฟลชถ่ายรูป เพราะอาจทำให้ช้างตกใจ
4. ให้ติดเครื่องรถยนต์ไว้เสมอ เพื่อให้สามารถเคลื่อนรถหนีได้ทันท่วงที
5. หากพบช้างในเวลากลางคืน ให้เปิดไฟรถไว้เสมอ เพื่อให้สามารถสังเกตอาการของช้างและระยะห่างระหว่างรถกับช้างได้โดยสะดวก ห้ามเปิดกะพริบ
6.ประสาทสัมผัสของช้างที่ดีที่สุดคือ หู จมูก และตา ถ้าดับเครื่องยนต์ ช้างจะเข้าใกล้เพื่อใช้ประสาทสัมผัสอย่างอื่น นั่นคือการดม ดู และสัมผัส นั่นหมายถึง ช้างเข้ามาหาแล้ว เขาแค่แตะๆ แต่ด้วยกำลังมหาศาล รถก็เสียหายได้
7. เมื่อตกอยู่ในวงล้อมของช้าง ตั้งสติให้มั่น หากเป็นเวลากลางคืน ให้ใช้ไฟต่ำ และอย่าเปิดกะพริบ แล้วเลือกเคลื่อนรถไปในทางที่มีช้างอยู่น้อย ค่อยๆ เคลื่อนรถ ให้เสียงเครื่องยนต์นิ่งมากที่สุด
8.ไม่ควรจอดรถดูช้าง เพราะอาจมีรถคันอื่นตามมา แล้วรถของคุณกีดขวางรถผู้อื่น
9. สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งเมื่อรถจอดเรียงกันบนถนน ความสามัคคีจะต้องเกิดขึ้น หากรถคันหน้าเปิดไฟถอยรถ คันข้างหลังถัดไปก็ให้ถอยรถอย่างมีสติ
10. ไม่ควรจอดรถแล้วลงไปถ่ายรูปช้างในระยะใกล้

นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อนหรือหมอล็อต หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่ากล่าวว่า ขอให้พึงรำลึกไว้เสมอว่า แม้เห็นช้างเพียงตัวเดียว แต่ไม่ได้หมายความว่า จะไม่มีช้างตัวอื่นๆ อยู่ในบริเวณนั้น ฝูงช้างอาจจะกระจายกันหากินอยู่ในบริเวณป่าข้างๆ ทางนั้นก็เป็นได้ และวินาทีที่ช้างจะเข้ามาหานั้น เร็วมาก

ทั้งนี้ “พี่สุทธิ” – นายสุทธพร สินค้าซึ่งทำหน้าที่อารักขาช้างป่าและดูแลความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยวขอบคุณทั้งนักท่องเที่ยวและผู้สัญจรไปมาที่ให้ความร่วมมือทำตามข้อแนะนำของเจ้าหน้าที่ในห้วงที่ช้างป่าออกมาเดินบนถนน ทำให้สถานการณ์สัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นไปด้วยดี

หมอล็อตกล่าวเพิ่มเติมว่า “อารักขาช้างป่า” แปลว่า คุ้มครอง ป้องกัน ดูแลช้างป่าในพื้นที่ป่า เราต้องการให้ช้างอยู่บ้านอย่างมีสวัสดิภาพ ถ้าบ้านไม่น่าอยู่ ช้างจะออกไปข้างนอก เขาใหญ่จะไม่มีช้างป่า จึงขอให้ทุกคนร่วมมือกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชในการดูและคุ้มครองช้าง โดยเชื่อฟังเจ้าหน้าที่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่น่าจะเป็นที่เดียวในโลกที่มีการอารักขาช้างป่าร่วมกับการบริหารจัดการการท่องเที่ยว เพื่อไม่ให้เหตุไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นเด็ดขาด

หากระหว่างเดินทางในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ แล้วช้างป่าออกมาเดินบนถนน แล้วเกิดรถติด หรือสังเกตว่า ช้างเกิดความเครียด ให้แจ้งเจ้าหน้าที่หรือสามารถโทร. 086-0926527 (ที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่) และ 086-0926529 (ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว) เพื่อที่เจ้าหน้าที่จะได้มา “อารักขา” ช้างป่า พร้อมทั้งดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว