“สัตว์เหล่านี้คือผู้ประสบภัยเช่นเดียวกันกับเรา” ติดตามสถานการณ์ กรมอุทยานฯ พร้อมช่วยเหลือสัตว์ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม

“สัตว์เหล่านี้คือผู้ประสบภัยเช่นเดียวกันกับเรา” ติดตามสถานการณ์ กรมอุทยานฯ พร้อมช่วยเหลือสัตว์ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม


อิทธิพลของร่องมรสุมที่พาดผ่านตอนบนของประเทศไทยและพายุที่เคลื่อนเข้าสู่บริเวณใกล้เคียงของประเทศในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายจังหวัด รวมถึงมีโอกาสในการเกิดน้ำทะเลหนุนสูงและน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศ ซึ่งมีผลถึงประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวทั้งความเสียหายต่อบ้านเรือน ทรัพย์สิน และระบบสาธารณูปโภคต่างๆ นอกจากนี้ ผลกระทบจากน้ำท่วมยังส่งผลต่อพื้นที่ป่าและสัตว์ป่าต่างๆได้อีกด้วย โดยสัตว์ป่าที่ได้รับผลกระทบนั้นอาจมีภาวะบาดเจ็บทั้งร่างกายและจิตใจ หรือมีปัญหาจากการหนีน้ำขึ้นที่สูง ทำให้มีสัตว์ป่าจำนวนไม่น้อยที่หนีน้ำเข้าสู่เขตชุมชน หรือบริเวณที่อยู่อาศัยของประชาชนที่อยู่ใกล้เคียง


นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เผยว่า นายรัชฎา  สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานฯ ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานภาคสนาม ติดตามสถานการณ์น้ำ และเตรียมความพร้อมเข้าดำเนินการ ในการช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ต่างๆ โดยก่อนหน้านี้มีการฝึกอบรมและเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่ของศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าทั้ง 3 แห่ง ในการช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม บาดเจ็บ หรือพลัดหลงเข้าไปยังเขตที่พักอาศัย หรือชุมชนต่างๆ โดยศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 1 (นครนายก) จังหวัดนครนายก รองรับการช่วยเหลือสัตว์ป่าในเขตจังหวัดภาคตะวันออกและภาคกลาง ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 ( กระบกคู่) จังหวัดฉะเชิงเทรา รองรับการช่วยเหลือสัตว์ป่าบริเวณเขตพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 3 (ประทับช้าง) จังหวัดราชบุรี รองรับการช่วยเหลือสัตว์ป่าในเขตจังหวัดภาคตะวันตก ภาคกลางตอนล่างและภาคใต้ตอนบน โดยมีสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า และสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ทุกแห่งทั่วประเทศ เข้าร่วมดำเนินการในแต่ละพื้นที่รับผิดชอบ โดยบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานช่วยเหลืออื่นๆ


ขั้นตอนปฏิบัติเมื่อพบสัตว์ป่าพลัดหลงเข้ามาในเขตชุมชนและเขตที่อยู่อาศัยขณะที่เกิดเหตุการณ์อุทกภัย
พึงระลึกไว้เสมอว่า “สัตว์เหล่านี้คือผู้ประสบภัยเช่นเดียวกันกับเรา”
เนื่องด้วยเหตุการณ์อุทกภัย สัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติ เช่น งูชนิดต่างๆ เหี้ย ตะกวด ลิงป่าและสัตว์ชนิดอื่นๆ อาจหนีน้ำเข้ามาในเขตบ้านเรือนประชาชน หรือสัตว์อาจได้รับบาดเจ็บ ซึ่งสัตว์เหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อระบบนิเวศ และไม่ทำอันตรายต่อมนุษย์ ดังนั้น เมื่อพบสัตว์ป่าพลัดหลง จึงควรปฏิบัติดังนี้
๑.    กรณีสัตว์เลื้อยคลาน เช่น งูชนิดต่างๆ เหี้ย ตะกวด
–      ควรสำรวจบริเวณบ้าน เช่น โรงครัว ห้องเก็บของ พื้นที่รกชัก เพื่อไม่ให้เป็นที่อาศัยและหลบภัยของสัตว์เหล่านั้น
–      ควรหาที่เก็บสัตว์เลี้ยงให้ปลอดภัย และไม่ควรให้เด็กเล็กออกมาเล่นน้ำ นอกจากจะเป็นการป้องกันอันตรายจากสัตว์เลื้อยคลานแล้ว ยังเป็นการป้องกันโรคระบาดที่มาพร้อมน้ำท่วมด้วย
–       หากพบสัตว์ อย่าตกใจ  อย่าขับไล่สัตว์ เพราะสัตว์อาจตื่นตกใจ และทำร้ายเราได้
–       จดจำสถานที่พบสัตว์ดังกล่าว หรือขังไว้ในห้อง ไม่รบกวน และแจ้งเจ้าหน้าที่มาดำเนินการ
๒.   กรณีสัตว์อื่นๆ เช่น จระเข้ เนื่องจากเป็นสัตว์ที่สามารถทำอันตรายได้ จึงไม่ควรเข้าไปใกล้ตัวสัตว์ (จระเข้ที่อยู่บนบกจะโจมตีเมื่อเข้าไปใกล้ในระยะ ๒-๕ เมตร ) และไม่ควรเข้าไปในพื้นที่ที่สงสัยว่ามีสัตว์หลบซ่อนอยู่ เช่น บริเวณริมตลิ่ง แหล่งน้ำนิ่ง และพงหญ้า
–      หากมีความจำเป็นที่จะต้องเดินทางลุยน้ำในพื้นที่เสี่ยง ให้สวมรองเท้าบู๊ท หรือหากไม่มี ให้หาไม้หรือวัสดุใดก็ได้มีขนาดยาวอย่างน้อย ๒ เมตร ติดตัวไปด้วย เพื่อใช้ในการตีพื้นดินหรือพื้นน้ำให้เกิดเสียงดัง ซึ่งจะเป็นการไล่จระเข้ และสัตว์อันตรายชนิดอื่นๆ
–          หากเดินทางในพื้นที่เสี่ยงยามค่ำคืน ต้องมีไฟฉายหรือวัตถุที่ทำให้เกิดแสงสว่างไปด้วย เพื่อเป็นการใส่สัตว์อันตรายอีกทางหนึ่ง
–          หากพบเห็นจระเข้ สามารถประสานงานกับสำนักงานประมงจังหวัด สวนสัตว์ และฟาร์มจระเข้ในพื้นที่ใกล้เคียง
๓.    กรณีสัตว์ป่าจำพวกลิง ชะนี ค่าง หากสัตว์เข้ามาในเขตที่อยู่อาศัย ห้ามเข้าใกล้ เพราะสัตว์เหล่านี้เมื่อตกใจอาจเข้าทำร้ายได้ อาจใช้อาหารล่อสัตว์เข้ากรงดักหรือเข้าไปในห้องแล้วปิดประตูกักไว้ หากสัตว์อยู่ในพื้นที่เปิด พยายามเฝ้าติดตามการเคลื่อนที่ของสัตว์ จดจำจุดที่สัตว์อยู่ให้ชัดเจน และป้องกันฝูงชนไม่ให้มีการส่งเสียงไล่ต้อน และปาสิ่งของ และแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้หากประชาชนพบเห็นสัตว์ป่าที่ได้รับบาดเจ็บ พลัดหลง หรือได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม สามารถประสานไปยังสายด่วนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช โทร 1362 ตลอด 24 ชั่วโมง
นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ตะวันเสรี