ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เป็นประธานกิจกรรมเวทีประชาคม โครงการพัฒนาอาชีพเกษตรกร ภายใต้โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ จังหวัดระยอง ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566

วันอังคารที่ 8 สิงหาคม 2566 เวลา 09.30 น. นายไตรภพ วงศ์ไตรรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เป็นประธานกิจกรรมเวทีประชาคม โครงการพัฒนาอาชีพเกษตรกร ภายใต้โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ จังหวัดระยอง ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เพื่อสำรวจศักยภาพและรับทราบความต้องการ และปัญหาอุปสรรคของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า และเสริมสร้างการมีส่วนร่วมการบูรณาการความร่วมมือในการวางแผนแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า ในพื้นที่อำเภอเขาชะเมา จังหวัดระยอง โดยมี นายอานนท์ วงศ์แย้ม นายอำเภอเขาชะเมา กล่าวให้การต้อนรับ และมีหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด ระดับอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เกษตรกร เข้าร่วมการประชาคม ณ อาคารอเนกประสงค์หมู่บ้านคชานุรักษ์ บ้านเขาจันทร์ หมู่ที่ 7 ตำบลห้วยทับมอญ อำเภอเขาชะเมา จังหวัดระยอง

โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ประกาศว่า “โดยช้างป่าเป็นสัตว์สำคัญที่ดำรงอยู่ มีตำนานผูกพันคู่กับผืนแผ่นดินไทยมาเป็นเวลาช้านาน และมีบทบาทต่อสังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง ทั้งทางด้านการศาสนา พระมหากษัตริย์ เศรษฐกิจ สังคม และการคมนาคม” ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เห็นคุณค่าและความสำคัญของช้าง จึงควรที่จะต้องมีการอนุรักษ์เอาไว้โดยเฉพาะช้างป่า แต่จะต้องไม่ให้ราษฎรมีความเดือดร้อนจากปัญหาช้างป่าบุกรุกหากินในพื้นที่การเกษตรของราษฎร จึงทรงมีพระราชดำริว่าควรจะมีการดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างคนและช้างป่า และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมรับโครงการอนุรักษ์ช้างป่ารอยต่อ ๕ จังหวัดในภาคตะวันออกไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้งคณะกรรมการโครงการอนุรักษ์ช้างป่ารอยต่อ ๕ จังหวัดในภาคตะวันออก และพระราชทานชื่อโครงการว่า “โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์” มีความหมายว่า “น้ำทิพย์รักษาช้างให้แข็งแกร่งยืนยงดุจเพชร” โดยมีวัตถุประสงค์การดำเนินงานเพื่อสืบสาน รักษา ต่อยอด แนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการแก้ไขปัญหาการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างป่า รวมทั้งการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ป่ารอยต่อ ๕ จังหวัดในภาคตะวันออก ซึ่งต่อมาได้เกิดชุมชนนำร่องในพื้นที่ ๕ จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง สระแก้ว และจันทบุรี ภายใต้ชื่อ “หมู่บ้านคชานุรักษ์” เพื่อสร้างต้นแบบในการปรับเปลี่ยนวิถีเพื่อการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างอย่างสมดุลต่อไป

พื้นที่ป่ารอยต่อ ๕ จังหวัดภาคตะวันออก เป็นผืนป่าขนาดใหญ่ มีพื้นที่ประมาณ ๑,๓๖๓,๓๒๓.๐๕ ไร่ หรือ ๒,๑๘๑.๓๒ ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤ ๅไน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองเครือหวายเฉลิมพระเกียรติ อุทยานแห่งชาติน้ำตกคลองแก้ว อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฎ และอุทยานแห่งชาติเขาชะเมา – เขาวง ซึ่งพื้นที่ป่ารอยต่อ ๕ จังหวัด เดิมมีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์ไม้และสัตว์นานาพันธุ์ เป็นป่ารอยต่อระหว่างระบบนิเวศภาคกลางกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงมีความหลากหลายทางชีวภาพและเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่ากว่า ๖๐๐ ชนิด

โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ ปัจจุบันมีช้างป่าประมาณ ๔๐๐ – ๔๕๐ ตัว จากที่เคยมีปรากฏอยู่ระหว่าง ๔๐ – ๖๐ ตัว ในช่วง พ.ศ. ๒๕๒๐ และเป็นกลุ่มที่มีอัตราการเพิ่มของประชากรช้างป่าสูงที่สุดในประเทศไทย คือร้อยละ ๘.๒ ต่อปี โดยเฉพาะในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน

แผนปฏิบัติการภายใต้แผนแม่บทสร้างความสมดุลระหว่างคนและช้างป่า ภายใต้ โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์
แผนปฏิบัติการสร้างความสมดุลระหว่างคนและช้างป่า ระยะ ๓ ปี เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๖๓ แบ่งออกเป็น ๓ ด้านตามพื้นที่ ดังนี้

ด้านที่ ๑ การจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์สำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของช้างป่า (วงใน : พื้นที่ช้างอาศัย) เพิ่มศักยภาพถิ่นอาศัยของช้างป่า และการจัดการประชากรช้างป่า
ด้านที่ ๒ การจัดการพื้นที่แนวกันชน (วงกลาง : พื้นที่พักช้าง) สร้างจุดพักช้างในป่าชุมชนเพื่อดึงช้างกลับสู่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพป่าชุมชน และจัดทำระบบติดตามและเฝ้าระวังช้างป่า
ด้านที่ ๓ การจัดการพื้นที่ชุมชน (วงนอก : พื้นที่ชุมชนอาศัย) สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนปรับเปลี่ยนอาชีพ พัฒนาอาชีพ สร้างกระบวนการเฝ้าระวัง ป้องกัน และเตือนภัยให้กับชุมชน และสร้างระบบการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ

บังเอิญ ชาญด้วยกิจ/รายงาน