บทบาทหน้าที่ของสาขาพรรคการเมืองตามกฎหมายพรรคการเมือง

บทบาทหน้าที่ของสาขาพรรคการเมืองตามกฎหมายพรรคการเมือง

1. บทนำและความสำคัญของสาขาพรรคการเมือง

พรรคการเมืองที่เป็นสถาบันทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยโดยผู้แทน เนื่องจากภารกิจหลักประการหนึ่งของพรรคการเมือง คือ การส่งสมาชิกพรรคการเมืองเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งนั่นเอง ภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่รองรับสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการรวมตัวกันทางการเมือง ทั้งนี้ ในการจัดตั้งพรรคการเมืองของประเทศไทยได้มีพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2498 เป็นกฎหมายพรรคการเมืองฉบับแรกของประเทศไทย ในปัจจุบันกฎหมายพรรคการเมืองอยู่ในรูปแบบของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการกำหนดวิธีการจัดตั้งพรรคการเมืองและการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ โดยหนึ่งในสาระสำคัญของกฎหมายพรรคการเมือง คือ การกำหนดให้พรรคการเมืองต้องจัดตั้ง “สาขาพรรคการเมือง” หากประสงค์จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบแบ่งเขตเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใดต้องมีสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดที่มีเขตพื้นที่รับผิดชอบในเขตเลือกตั้งนั้น[1] รวมถึงการกำหนดรายละเอียดการบริหารจัดการสาขาพรรคการเมือง กำหนดให้มีการประชุมใหญ่ของสาขาพรรคการเมือง กำหนดวิธีการบริหารการเงินและทรัพย์สินและการจัดทำบัญชีของสาขาพรรคการเมือง การเลิกสาขาพรรคการเมือง ไว้ใน “ข้อบังคับของพรรคการเมือง”[2] พร้อมกันนี้ กฎหมายพรรคการเมืองยังได้กำหนดโทษของการไม่ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด ความสำคัญดังกล่าวจึงนำมาสู่การศึกษาถึงบทบาทหน้าที่ของสาขาพรรคการเมือง รายละเอียดดังนี้

 

2. การจัดตั้งสาขาพรรคการเมือง

กฎหมายพรรคการเมืองกำหนดให้พรรคการเมืองต้องดำเนินการจัดตั้งสาขาพรรคการเมืองภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนพรรคการเมือง โดยต้องจัดตั้งสาขาพรรคการเมืองในแต่ละภาคตามบัญชีรายชื่อภาคและจังหวัดที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดอย่างน้อยภาคละหนึ่งสาขา โดยสาขาพรรคการเมืองแต่ละสาขาต้องมีสมาชิกที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบของสาขานั้นตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป
เมื่อจัดตั้งสาขาพรรคการเมืองขึ้นในภาคใดแล้ว ให้หัวหน้าพรรคการเมืองมีหนังสือแจ้งการจัดตั้งสาขาต่อนายทะเบียนภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่จัดตั้งสาขานั้น

สาขาพรรคการเมืองและตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดจะจัดตั้งขึ้น นอกราชอาณาจักรมิได้[3]

การจัดตั้งสาขาพรรคการเมืองต้องดำเนินการภายใน 180 วัน แต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ใช้บังคับ ในกรณีที่ได้มีการจัดตั้งสาขาพรรคการเมืองโดยชอบตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 ให้ถือว่าเป็นการจัดตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้และให้ดำเนินการให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ แล้วให้แจ้งเป็นหนังสือยืนยันให้นายทะเบียนทราบภายในระยะเวลาดังกล่าวด้วย[4]

ขอบคุณภาพ Workpoint Today

3. บทบาทและหน้าที่ของสาขาพรรคการเมือง

บทบาทและอำนาจหน้าที่ของสาขาพรรคการเมืองในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในเขตพื้นที่จัดตั้งสาขาของพรรคการเมือง มีดังนี้

‘3.1’ หน้าที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง

สาขาของพรรคการเมืองนับว่ามีความสำคัญในระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้พรรคการเมืองใดที่ต้องการจะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งลงในเขตพื้นที่ใดจะต้องจัดตั้งสาขาของพรรคการเมืองในเขตพื้นที่นั้น[6] ทั้งนี้ การส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

– แบบแบ่งเขตเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งให้พรรคการเมืองส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งจากผู้ซึ่งได้รับเลือกจากสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมือง ประจำจังหวัดที่มีเขตพื้นที่รับผิดชอบในเขตเลือกตั้งนั้นเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง[7]

– แบบบัญชีรายชื่อ ให้พรรคการเมืองจัดทำบัญชีรายชื่อ เพื่อส่งให้สาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด โดยให้คำนึงถึงผู้สมัครรับเลือกตั้งจากภูมิภาคต่าง ๆ และความเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิงด้วย[8]

ในการเลือกตั้งแบบทั่วไป ในกรณีที่พรรคการเมืองต้องสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งให้ดำเนินการตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ โดยที่จะต้องมีหัวหน้าสาขาพรรคการเมืองไม่น้อยกว่าสี่สาขาซึ่งมาจากภาคต่างกัน[9] หมายความว่า พรรคการเมืองจะต้องจัดตั้งสาขาของพรรคการเมืองอย่างน้อย 4 สาขา ให้ครอบคลุมภูมิภาค
ต่าง ๆ ในประเทศไทย ทั้งนี้ สำหรับการเลือกตั้งทั่วไปในครั้งแรกเมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา กฎหมายอนุญาตให้พรรคการเมืองใดที่ได้จัดตั้งสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดไว้แล้วในจังหวัดใด ให้พรรคการเมืองนั้นสามารถส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ทุกเขตเลือกตั้งในจังหวัดนั้น[10]

3.2 บทบาทในกิจกรรมทางการเมือง

เพื่อให้การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมืองเป็นไปโดยทั่วถึงและเข้าถึงกลุ่มทางการเมืองทั่วประเทศการจัดตั้งสาขาของพรรคการเมืองจึงเป็นเรื่องสำคัญอันจะช่วยเสริมให้การบริหารจัดการพรรคการเมืองตอบสนองความต้องการของสมาชิกพรรคการเมือง ดังนั้น กฎหมายพรรคการเมืองจึงกำหนดให้

– ต้องขอความเห็นของสาขาพรรคการเมืองและตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดในการการกำหนดนโยบายของพรรคการเมืองที่ใช้ในการประกาศโฆษณา[11]

– กิจกรรมที่เสนอโดยหัวหน้าสาขาพรรคการเมืองต้องกระทำโดยที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมือง[12]

– องค์ประชุมของที่ประชุมใหญ่สาขาพรรคการเมืองอย่างน้อยต้องประกอบด้วยกรรมการสาขาพรรคการเมืองไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการสาขาพรรคการเมืองทั้งหมด และสมาชิกสาขาพรรคการเมือง ทั้งนี้ มีจำนวนรวมกันทั้งหมดไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยคน[13]

 

3.3 ‘สิทธิและหน้าที่ของสาขาพรรคการเมือง’

เมื่อมีการจัดตั้งสาขาของพรรคการเมืองขึ้นแล้วกฎหมายกำหนดหน้าที่ให้แก่คณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง หัวหน้าพรรคการเมือง รวมถึงบุคคลใด ๆ ให้ต้องดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด ดังนี้

– หน้าที่บริหารการเงิน ทรัพย์สิน และประโยชน์อื่นใดของสาขาพรรคการเมือง กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง[14]

– หัวหน้าสาขาพรรคการเมือง และตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด มีหน้าที่ต้องจัดให้มีบัญชีรับ และจ่ายเงินของสาขาพรรคการเมือง รวมถึงการจัดทำบัญชีรายชื่อพร้อมที่อยู่ของสมาชิกที่มีภูมิลำเนาในเขตจังหวัดซึ่งเป็นที่ตั้งของสาขาพรรคการเมือง[15]

– หน้าที่ออกใบเสร็จรับเงินบริจาคเพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของสาขาพรรคการเมือง[16]

– สิทธิได้รับเงินจัดสรรจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองร้อยละ 20 ของวงเงินจัดสรรต่อจำนวนสาขาพรรคการเมือง[17] เมื่อใช้จ่ายเพื่อการใดแล้ว ให้จัดทำรายงานให้คณะกรรมการการเลือกตั้งทราบทุกสามเดือนนับแต่วันที่ได้รับการจัดสรร[18]

‘4. ‘คุณสมบัติของคณะกรรมการสาขาของพรรคการเมือง[19]

กรรมการสาขาพรรคการเมืองต้องเป็นสมาชิกและมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับกรรมการบริหารพรรคการเมือง ดังนี้[20]

1. คุณสมบัติ

(1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด ในกรณีเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติต้องได้สัญชาติไทย มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี

(2) มีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี

2. ลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ดังนี้

(1) ไม่เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา 98 (1) (2) (4) (5) (6) (7) (8) (9) (10) (11) (14) (16) (17) หรือ (18) ของรัฐธรรมนูญ

(2) อยู่ในระหว่างถูกสั่งห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญนี้

(3) ไม่เป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นหรือผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองอื่น หรือผู้แจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมืองอื่น

3. องค์ประกอบของคณะกรรมการสาขาของพรรคการเมือง

คณะกรรมการสาขาพรรคการเมืองประกอบด้วย หัวหน้าสาขาและกรรมการสาขาพรรคการเมืองตามจำนวนที่กำหนดในข้อบังคับพรรคการเมืองซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 7 คน ในกรณีที่พรรคการเมืองใด มีหัวหน้าสาขาพรรคการเมืองและตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดรวมกันไม่ถึงเจ็ดคน ให้พรรคการเมืองจัดให้มีการเลือกตัวแทนสมาชิกเพื่อให้ได้จำนวนที่ยังขาดอยู่จนครบจำนวนเจ็ดคน ทั้งนี้ การเลือกกันเองของหัวหน้าสาขาพรรคการเมืองและตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด หรือการเลือกตัวแทนสมาชิกให้เป็นไปตามข้อบังคับ[21]

 

‘5. ‘การเลิกหรือการสิ้นสภาพของสาขาพรรคการเมือง

สาขาพรรคการเมืองย่อมสิ้นสภาพ ในกรณีดังต่อไปนี้

1) การเลิกสาขาพรรคการเมืองตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับพรรคการเมือง

2) เมื่อมีจำนวนสาขาพรรคการเมืองเหลือไม่ถึงภาคละหนึ่งสาขาเป็นระยะเวลาติดต่อกันหนึ่งปี[22]

 

6. ปัญหาของสาขาพรรคการเมือง

จากงานวิจัยปัญหาและอุปสรรคของสาขาพรรคการเมืองของประเทศไทยสรุปได้ว่า การจัดตั้งสาขาของพรรคการเมืองเป็นไปตามเงื่อนไขของกฎหมายพรรคการเมือง เพื่อให้สามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้เท่านั้น มิได้เป็นการจัดตั้งสาขาพรรคการเมืองให้กระจายไปยังภูมิภาคต่าง ๆ อย่างทั่วถึง เพื่อให้สาขาพรรคเป็นกลไกของพรรคในการเชื่อมโยงกับประชาชน อันจะเป็นการวางรากฐานความเข้มแข็งให้แก่พรรคการเมืองแต่อย่างใด[23] โดยสาขาพรรคการเมืองในบางสาขาได้ดำเนินบทบาทเฉพาะในวันประชุมใหญ่สามัญประจำปีสาขาพรรคเพียงอย่างเดียว[24] จากการศึกษาเบื้องต้นเกี่ยวกับสาขาของพรรคการเมืองจะพบว่าปัญหาและอุปสรรคในการจัดตั้งสาขาของพรรคการเมืองมักจะเกิดจากความไม่พร้อมด้านเงินทุน รวมทั้งขาดการวางแผนในการพัฒนาบุคลากรของสาขาพรรคให้มีความรู้ความเข้าใจในการดำเนินกิจการของสาขาพรรคการเมือง ดังนั้น แนวทางการพัฒนาองค์ความรู้ให้แก่สมาชิกของพรรคการเมือง รวมถึงสมาชิกสาขาพรรคการเมืองจะช่วยให้ประชาชนในเขตพื้นที่ต่าง ๆ กลับมาให้ความสำคัญทางการเมืองและเข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่ต้องการให้สมาชิกพรรคการเมืองได้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง

เรียบเรียง ผศ.ดร. พนารัตน์ มาศฉมาดล
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.ดร. นิยม รัฐอมฤต

 

7. บรรณานุกรม

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134/ตอนที่ 105 ก/7 ตุลาคม 2560. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134/ตอนที่ 40 ก/6 เมษายน 2560. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

สติธร ธนานิธิโชติ. (2555). การสร้างความเข้มแข็งให้แก่พรรคการเมืองไทย. ม.ป.ท.: สถาบันพระปกเกล้า. สํานักวิจัยและพัฒนา.

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง.การจัดตั้งสาขาพรรคการเมือง. ออนไลน์จาก https://www.ect.go.th/ect_th/download/article/article_20190624130339.pdf. เมื่อ 1 มิถุนายน 2563.

อเนก สุขดี เสนีย์ คำสุข และ ปธาน สุวรรณมงคล. การก่อตั้งและบทบาททางการเมืองของสาขาพรรคการเมืองไทย ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ‘2550’. วารสารรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์ ปีที่ 2 เล่มที่ 1 (ม.ค.-มิ.ย. 2556).

อ้างอิง
[1] มาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

[2] มาตรา 15 (7) (8) (14) และ (16) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

[3] มาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

[4] มาตรา 141 (7) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

[5] สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง, การจัดตั้งสาขาพรรคการเมือง,