ปกท.ทส. ลงพื้นที่ร่วมติดตามมาตรการรับมือแล้ง จังหวัดตราด พร้อมเดินหน้าบูรณาการแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ รองรับ EEC
ปกท.ทส. ลงพื้นที่ร่วมติดตามมาตรการรับมือแล้ง จังหวัดตราด พร้อมเดินหน้าบูรณาการแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ รองรับ EEC
วันนี้ (20 กุมภาพันธ์ 2566) นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปกท.ทส.) พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงในสังกัดกระทรวงฯ ลงพื้นที่ร่วมกับ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อตรวจติดตามการบริหารจัดการน้ำ ตาม 10 มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2565/2566 และรับฟังผลการดำเนินโครงการแก้มลิงหนองฉุงใหญ่ อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด อีกทั้ง รับทราบสถานการณ์น้ำ และผลการดำเนินงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ ทั้งในมิติการพัฒนาและการอนุรักษ์ฟื้นฟูเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำให้กับประชาชน ทั้งนี้ จังหวัดตราด มีแผนงาน/โครงการ ภายใต้แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ตาม พรบ.งบประมาณปี 66 จำนวน 6 โครงการ ครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอ พื้นที่รับประโยชน์ 3,060 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 608 ครัวเรือน และเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกัก 0.03 ล้าน ลบ.ม. ส่วน จ.จันทบุรี มีแผนงาน/โครงการ ภายใต้งบบูรณาการฯ ตาม พรบ.ปี 66 จำนวน 24 โครงการ ครอบคลุมพื้นที่ 7 อำเภอ พื้นที่ได้รับประโยชน์ 12,966 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 2,873 ครัวเรือน และเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกัก 81.08 ล้าน ลบ.ม. นอกจากนี้ ยังมีแผนงานโครงการสำคัญ จำนวน 5 โครงการ 8,106 ล้านบาท ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 140 ล้าน ลบ.ม. และพื้นที่รับประโยชน์ 77,600 ไร่ ได้แก่ อ่างฯ คลองวังโตนด อ่างฯคลองตาพลาย อ่างฯคลองโป่งน้ำ อ่างฯคลองเครือหวาย และเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บอ่างฯแก่งหางแมว
โอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรน้ำ เร่งสำรวจและก่อสร้างโครงการด้านทรัพยากรน้ำในพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำอย่างเต็มศักยภาพให้แล้วเสร็จโดยเร็ว อีกทั้ง มอบหมายให้ สทนช. อำนวยการและกำกับดูแลโครงการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ให้แล้วเสร็จตามแผนงาน และกำกับติดตามให้เป็นไปตาม 10 มาตรการรองรับฤดูแล้งอย่างเคร่งครัด และร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมแหล่งน้ำสำรองหรือแหล่งน้ำทางเลือกอื่น ๆ เพื่อป้องกันการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก สำหรับพื้นที่ EEC ให้เร่งรัดการขับเคลื่อนโครงการอ่างเก็บน้ำวังโตนด จังหวัดจันทบุรี นอกจากนี้ ได้กำชับให้จังหวัดประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการความร่วมมือในการเร่งรัดการก่อสร้างโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่สำคัญ และเดินหน้าขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำให้เป็นรูปธรรมและยกระดับคุณภาพน้ำให้ได้มาตรฐาน พร้อมเสริมสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมและสร้างการรับรู้ให้กับภาคประชาชน เพื่อความร่วมมือในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับพื้นที่ ให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนต่อไป
บังเอิญ ชาญด้วยกิจ/รายงาน