ผู้ว่าฯ ระยอง สั่งการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ปัญหาในการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ

🚨ด่วนที่สุด📢📣

📩เรียน นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง นายอำเภอทุกอำเภอ นายกเทศมนตรีนครระยอง นายกเทศมนตรีเมืองมาบตาพุด ประชาสัมพันธ์จังหวัดระยอง ประมงจังหวัดระยอง ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคระยอง ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงระยอง ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงชนบทระยอง และผู้จัดการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดระยอง

🔰กองอำนวนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง แจ้งว่าได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง กอปรกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 1 (49/2566) ลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 05.00 น. แจ้งว่า บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากสาธารณรัฐประชาชนจีนระลอกใหม่จะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน ในช่วงวันที่ 14 – 17 กุมภาพันธ์ 2566 ประกอบกับมีคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกเคลื่อนผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ในช่วงวันที่ 16 – 17 กุมภาพันธ์ 2566 ทำให้มีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงและลูกเห็บตกบางพื้นที่ รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าในระยะแรก บริเวณประเทศไทยตอนบน จากนั้นอุณหภูมิจะลดลงกับมีลมแรง โดยบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนืออุณหภูมิจะลดลง 3 – 5 องศาเซลเซียส ส่วนภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อุณหภูมิจะลดลง 1 – 3 องศาเซลเซียส สำหรับภาคกลาง (จังหวัดระยอง) เฝ้าระวังสถานการณ์ฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง ระหว่างวันที่ 14 – 17 กุมภาพันธ์ 2566

📌เพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ปัญหาสถานการณ์ฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงอาจสร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน นักท่องเที้ยว บ้านเรือน พืชผลทางการเกษตร กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดระยอง จึงให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอทุกอำเภอ /องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้

(1)ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง และอำเภอทุกอำเภอ แจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง ดำเนินการตามแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยพื้นที่ จัดเจ้าหน้าที่อยู่ปฏิบัติงาน ติดตามสถานการณ์ เฝ้าระวังและรับแจ้งเหตุตลอด 24 ชั่วโมง และดำเนินการ ดังนี้

1.1 ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่เสี่ยงภัย ให้เตรียมการป้องกันและระมัดระวังอันตรายอันเกิดจากพายุฤดูร้อน ในช่วงวันที่ 14 – 17 กุมภาพันธ์ 2566 ผ่านทางวิทยุกระจายเสียงประจำท้องถิ่น เสียงตามสาย หอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน และเครือข่ายวิทยุสมัครเล่น สถานีโทรทัศน์เคเบิ้ลทีวีท้องถิ่น ตลอดจนผู้นำท้องถิ่น อาสาสมัคร ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยให้ดูแลบ้านเรือน โรงเรือน สิ่งก่อสร้าง ให้มั่นคงแข็งแรง ตัดแต่งต้นไม้ กิ่งไม้ และให้ระมัดระวังการใช้โทรศัพท์มือถือ กลางที่โล่งแจ้งในขณะเกิดฟ้าคะนอง

1.2 เตรียมความพร้อมกำลังพล วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องจักร และยานพาหนะ ให้พร้อมปฏิบัติงาน อำนวยความสะดวก และให้ความช่วยเหลือประชาชน ตลอด 24 ชั่วโมง และประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ (อาทิเช่น ทหาร ตำรวจ ชลประทาน สถาบันการศึกษา มูลนิธิ อาสาสมัคร ฯลฯ)

1.3 สำรวจ ตรวจสอบ พื้นที่รองรับน้ำ กำหนดแนวทางในการพร่องน้ำ การผันน้ำ และการระบายน้ำออกจากพื้นที่เสี่ยงที่มีสถานการณ์ซ้ำซาก พื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญ

1.4 หากเกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ ให้รายงานสถานการณ์ และการให้ความช่วยเหลือให้จังหวัดชลบุรีทราบโดยเร็ว (สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดระยอง) ทางโทรสารหมายเลข 0-3869-4134 และรายงานสถานการณ์ และการให้ความช่วยเหลือทุกระยะ

(2)ให้แขวงทางหลวงระยอง แขวงทางหลวงชนบทระยอง ตรวจสอบรางระบายน้ำท่อระบายน้ำ และท่อลอดต่าง ๆ ไม่ให้มีวัชพืช ขยะ และสิ่งอุดตัน รวมทั้งตรวจสอบสิ่งก่อสร้าง และป้ายโฆษณาที่อยู่ในเขตทาง หากพบว่าไม่ปลอดภัยหรือติดตั้งโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่โดยเคร่งครัด และตัดแต่งกิ่งไม้ใหญ่เพื่อป้องกันการหักโค่นต่อไป

(3)ประมงจังหวัดระยอง สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคระยอง แจ้งเตือนชาวเรือให้ระมัดระวังอันตรายในการเดินเรือ หากมีคลื่นสูงให้งดออกจากฝั่ง ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่อยู่บริเวณชายฝั่งหรือชายหาดให้ระวังอันตรายจากคลื่นลมแรงที่พัดเข้าหาฝั่ง จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์ กำหนดมาตรการการดูแลความปลอดภัยในการเดินเรือ และการระเล่นทางน้ำ

(4)ให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคระยอง ตัดแต่งกิ่งไม้ใหญ่บริเวณที่สายไฟฟ้าพาดผ่าน ให้อยู่ในสภาพที่ไม่เป็นอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรง และจัดเตรียมเจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง และแก้ไขปัญหาในกรณีเกิดเหตุไฟฟ้าดับ หรือเสาไฟฟ้าล้มได้ทันที

(5)ให้ประชาสัมพันธ์จังหวัดระยอง แจ้งเตือนผ่านสื่อต่าง ๆ เช่น เคเบิ้ลทีวี วิทยุชุมชน สื่อมวลชนทุกประเภท ให้ประชาชนระมัดระวังภัยอันเกิดจากพายุฤดูร้อน ในช่วงวันที่ 14 – 17 กุมภาพันธ์ 2566 โดยให้ดูแลบ้านเรือน โรงเรือน สิ่งก่อสร้างต่างๆ ให้มั่นคงแข็งแรง ตัดแต่งต้นไม้ กิ่งไม้ และให้ระมัดระวังการใช้โทรศัพท์มือถือกลางที่โล่งแจ้งในขณะเกิดฝนฟ้าคะนอง

จึงเรียนมาเพื่อดำเนินการต่อไป สำหรับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง อำเภอขอให้แจ้งเทศบาลตำบล และองค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่ดำเนินการด้วย

นายไตรภพ วงศ์ไตรรัตน์
ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง
ผู้อำนวยการจังหวัด