“ทุจริตเชิงนโยบาย” ปัญหาที่คนไทยต้องรู้เท่าทัน นักการเมือง

“ทุจริตเชิงนโยบาย” ปัญหาที่คนไทยต้องรู้เท่าทัน นักการเมือง


การคอร์รัปชั่น เป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทยที่เกิดขึ้นมาเป็นเวลานาน และนับวันยิ่งจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งในเชิงขนาดและความซับซ้อน “การทุจริตเชิงนโยบาย” เป็นหนึ่งในปัญหาการคอร์รัปชั่นที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน การทุจริตเชิงนโยบายนั้นส่วนใหญ่เกิดจากการใช้เงื่อนไขทางการเมืองในการเอื้อประโยชน์แก่ตนเองและพวกพ้อง การศึกษาทางวิชาการที่ผ่านมา พบว่า ปัญหาการทุจริตเชิงนโยบาย คือ การใช้ความชอบธรรมของนโยบายและกฎหมาย เป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์ ซึ่งแตกต่างจากปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบ หรือปัญหาการคอร์รัปชั่นที่เกิดจากการใช้อำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ

งานวิจัยเรื่อง “การทุจริตเชิงนโยบาย: มาตรการในทางกฎหมายเพื่อควบคุมและป้องกันปัญหาการทุจริตเชิงนโยบายในประเทศไทย“ โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารวบรวมรูปแบบของกระบวนการ ในการนำเสนอนโยบายที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ๆ โดยฝ่ายการเมือง ซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหา “การทุจริตเชิงนโยบายในประเทศไทย” โดยเก็บข้อมูลผ่านวิธีวิจัยเอกสาร (Documentary Research) ประกอบกับการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth interview) รวมถึงการจัดประชุมกลุ่มย่อยและสัมมนารับฟังความคิดเห็นทั่วไป

ที่ผ่านมา การทุจริตคอร์รัปชั่นจากนโยบายทางการเมือง ได้สร้างความเสียหายอย่างมหาศาลแก่ประเทศไทย เช่น กรณีของ “โครงการโฮปเวลล์” ในยุคสมัยของพลเอกชาติชาย ชุณหวัณ ซึ่งนับเป็นการทุจริตในโครงการของรัฐขนาดใหญ่ในรูปแบบเก่า กล่าวคือ เป็นเรื่องของการรับสินบนของฝ่ายการเมือง เพื่อให้โครงการเกิดขึ้นและดำเนินการเสร็จแล้วก็ยุติลง ซึ่งงบประมาณของภาครัฐมิได้ถูกนำไปใช้ดำเนินโครงการในลักษณะของโครงการประชานิยมที่ผูกพันงบประมาณภาครัฐในระยะยาว แต่ยุคปัจจุบันในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา การทุจริตที่ปรากฏเป็นข่าว ได้มีรูปแบบเปลี่ยนแปลงไป และมีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น โดยอาจเรียกว่าเป็น “การทุจริตเชิงนโยบาย” ซึ่งฝ่ายการเมืองได้ใช้กลไกของภาครัฐดำเนินโครงการตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ โดยเรียกกันว่า “นโยบายประชานิยม” ซึ่งประโยชน์ต่าง ๆ ที่ได้รับจากการดำเนินนโยบายมีทั้งคะแนนเสียงและเม็ดเงินที่รั่วไหลจากโครงการที่หลั่งไหลเข้าสู่กลุ่มเครือข่ายของตน

“การทุจริตเชิงนโยบาย” มีความซับซ้อนแตกต่างจากปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบ กล่าวคือ การทุจริตเชิงนโยบาย เป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ผ่านการสร้างความชอบธรรมอย่างเป็นระบบขึ้นมาเพื่อการคอร์รัปชั่น โดยมีขั้นตอนการดำเนินงานที่สำคัญคือ กระบวนการทำให้เกิดความชอบธรรมในการทุจริต โดยการสร้าง และ ใช้ “องค์ความรู้ทางวิชาการ” เป็นเครื่องมือในการสร้างความสมเหตุสมผลให้กับนโยบาย หรือกฎหมายต่าง ๆ ที่ล้วนเป็นเพียงเครื่องมือและข้ออ้าง ในการแสวงหาประโยชน์เพื่อตนเองและพวกพ้อง อันพึงจะได้รับจากการดำเนินงานตามนโยบาย หรือการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องเหล่านั้น

อย่างไรก็ตาม ในต่างประเทศจะไม่ปรากฎสิ่งที่เรียกว่า “การทุจริตเชิงนโยบาย” แต่จะถือว่าเป็นการ “ทุจริตอย่างเป็นระบบ” (Systemic Corruption) ซึ่งมีลักษณะสำคัญคือ การแสดงพฤติกรรมการคอร์รัปชั่นที่อาศัยอำนาจในการกำหนดนโยบายสาธารณะ และอำนาจในการกำกับดูแลหน่วยงานรัฐของเหล่าบรรดานักการเมือง ในการสร้างเงื่อนไขต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการคอร์รัปชั่น เช่น การออกนโยบาย หรือแนวทางต่าง ๆ ให้กับเจ้าหน้าที่ หรือหน่วยงานภาครัฐไปปฏิบัติ

ในปัจจุบัน “การทุจริตเชิงนโยบาย” เป็นการทุจริตที่ยังไม่มีมาตรการใด ๆ ที่ถูกออกแบบ หรือกำหนดขึ้นมาเพื่อป้องกันและปราบปรามโดยตรง เนื่องจากเป็นการทุจริตที่ถูกตรวจสอบเอาผิดถึงคณะบุคคลผู้ทำการทุจริตได้ยาก หรือหากสามารถที่จะสืบสาวไปจนถึงกลุ่มบุคคลดังกล่าวได้ แต่ก็มักจะไม่มีพยานหลักฐานที่ชัดเจนเพียงพอในการที่จะพิสูจน์ความผิดของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากว่า พฤติกรรม หรือ เจตนา ของการทุจริตนั้น ได้ถูกสร้างให้เกิดความชอบธรรม และชอบด้วยกฎหมาย ไปเสียแล้ว

นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดในระบบการควบคุมตรวจสอบที่ไม่สามารถสกัดกั้นได้ ตั้งแต่ในขั้นตอนการวางนโยบาย เนื่องจากในประเทศไทยไม่มีกลไกทางกฎหมายเปิดช่องไว้ นอกจากนี้สภาพการทุจริตนั้น มาจากบุคคลซึ่งสังกัดฝ่ายรัฐบาลที่ครองเสียงข้างมาก ส่งผลให้กลไกในการตรวจสอบทางการเมืองโดยรัฐสภาทำงานได้ไม่เต็มที่ และที่สำคัญคือในประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่กำหนดเป็นข้อห้ามไว้

จากการศึกษาวิจัยนำมาสู่ ข้อเสนอแนะแนวทางในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเชิงนโยบาย ได้แก่ การวางกฎเกณฑ์การดำเนินโครงการต่าง ๆ ตามนโยบายของรัฐบาล โดยตราเป็นพระราชบัญญัติ การปรับปรุงข้อห้ามในการใช้นโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองที่ต้องห้าม ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ก.ก.ต.) ควรมีบทบาทในการวินิจฉัยและกำหนดบทลงโทษซึ่งจะต้องกำหนดข้อห้ามไว้ทั้งในรัฐธรรมนูญ และกฎหมายเลือกตั้ง การนำหลักการสมคบกระทำความผิดเพื่อป้องกันการทุจริตเชิงนโยบาย มาบัญญัติไว้เป็นกฎหมาย รวมถึงการกำหนดการกระทำที่เข้าข่ายเป็นการทุจริตเชิงนโยบายไว้ในรัฐธรรมนูญ

ที่มา: โครงการวิจัยเรื่อง “การทุจริตเชิงนโยบาย: มาตรการในทางกฎหมายเพื่อควบคุมและป้องกันปัญหาการทุจริตเชิงนโยบายในประเทศไทย” โดย อุดม รัฐอมฤต และคณะ (2559) สนับสนุนทุนวิจัยโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

เรียบเรียงข้อมูลโดย: ทีมงาน Research Café

TAGGED การเมือง, สังคม
Related stories