สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดกลุ่มอาคารสำนักงานใหญ่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi ภายในวังจันทร์วัลเลย์

วันพุธที่ ๑๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๕ เวลา ๐๘.๕๗ น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดกลุ่มอาคารสำนักงานใหญ่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi ภายในวังจันทร์วัลเลย์ อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง

ซึ่งสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล ให้เป็นผู้รับผิดชอบในการพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศ สนับสนุนการต่อยอดผลงานวิจัยและนวัตกรรมจากห้องปฏิบัติการไปสู่การใช้ประโยชน์ใน ๖ อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ เกษตรสมัยใหม่และเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูง เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ, แบตเตอรี่และการขนส่งสมัยใหม่ ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การบินและอวกาศ รวมทั้งเครื่องมือแพทย์ โดยจะช่วยยกระดับมูลค่าภาคเกษตร สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไทย และรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศ

โอกาสนี้ ทรงเปิดกลุ่มอาคารสำนักงานใหญ่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi บริเวณลานสัญลักษณ์แห่งการขยายผลนวัตกรรม (Innovation Amplifier) ซึ่งนำบางส่วนของตราสัญลักษณ์ EECi มาใช้เป็นภาพการสื่อสารหลัก เพื่อสร้างภาพจำและสื่อสารแนวคิดให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ “ระบบนิเวศนวัตกรรมชั้นนำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งผลงานวิจัยและนวัตกรรมนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและความอยู่ดีกินดีของประชาคมอย่างยั่งยืน”

แล้วทรงติดตามการดำเนินงานพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก อาทิ

นิทรรศการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกและพันธมิตรสำคัญ โดย สวทช. ซึ่งกลุ่มอาคารสำนักงานใหญ่ EECi มีพื้นที่ ๔๐,๐๐๐ ตารางเมตร ในปี ๒๕๖๕ มีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมเปิดให้บริการ ได้แก่

* ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน และโรงเรือนปลูกพืชอัจฉริยะ ส่วนโรงเรือนฟีโนมิกส์ (Phenomics Greenhouse)

* โรงงานผลิตพืช (Plant Factory)

* โรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี่ (Biorefinery Pilot Plant)

* โรงงานต้นแบบแบตเตอรี่ทางเลือก (Alternative Battery Pilot Plant) จะเปิดให้บริการในปี ๒๕๖๖

นิทรรศการสนามทดสอบยานยนต์ไร้คนขับ โดย กรมวิทยาศาสตร์บริการ

นิทรรศการเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน รุ่นที่ ๔ ขนาด ๓ กิกะอิเล็กตรอนโวลต์ โดย สถาบันวิจัยแสงซินโครตอน (องค์การมหาชน)

นิทรรศการสนามทดสอบอากาศยานไร้คนขับ โดย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา EECi ให้เป็นระบบนิเวศนวัตกรรมชั้นนำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อสนับสนุนการดึงดูดการลงทุนเทคโนโลยีขั้นสูงเข้าสู่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ผ่านการพัฒนาคลัสเตอร์นวัตกรรมใหม่ ที่เกิดจากการผสานความร่วมมือระหว่างบริษัทใหญ่ ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สถาบันวิจัย สถาบันการศึกษา และภาคประชาสังคม รวมถึงการขับเคลื่อนความร่วมมือและการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศให้กับหน่วยงานและผู้ประกอบการในประเทศ

จากนั้น ทอดพระเนตรศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (Sustainable Manufacturing Center, SMC) อาคาร D

ซึ่งศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (Sustainable Manufacturing Center, SMC) เป็นส่วนหนึ่งของเมืองนวัตกรรมระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะ (EECi ARIPOLIS) เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมของประเทศไทย สู่อุตสาหกรรม ๔.๐ โดยเป็นแหล่งทดสอบความเข้ากันได้ของอุปกรณ์และระบบต่างๆ เพื่อปรับแต่งในระหว่างการออกแบบ และก่อนการนำไปใช้งานจริงในสายการผลิตของอุตสาหกรรม รวมทั้งเป็นแหล่งสาธิตสายการผลิตอัตโนมัติ การพัฒนาทักษะกำลังคน และการให้คำปรึกษาด้านเทคนิคแก่ภาคอุตสาหกรรม โดยส่งเสริมให้กลุ่มผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม สามารถนําเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ปรับปรุงกระบวนการผลิตของโรงงาน มุ่งเน้นการพัฒนาแพลตฟอร์มที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการผลิต ผู้พัฒนาระบบ นวัตกร นักวิจัย และนักศึกษาในสาขาที่เกี่ยวข้อง สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ผ่านกิจกรรมต่างๆ ทั้งการสาธิต การเรียนรู้ และการทดลองปฏิบัติจริง รวมถึงกิจกรรมวิจัยเพื่อการสร้างนวัตกรรม

โอกาสนี้ ทอดพระเนตรชิ้นงานที่นำมาสาธิต อาทิ

ระบบตรวจสอบชิ้นงาน ๓ มิติ (Scanner Robot) เป็นหุ่นยนต์แขนกลที่มีกล้อง ๓ มิติ เพื่อถ่ายภาพวัตถุให้เป็นโมเดล ๓ มิติ สำหรับใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อตรวจสอบความสมบูรณ์ของชิ้นงาน ความสมบูรณ์ของแม่พิมพ์ รวมถึงความสมบูรณ์ของชิ้นงานที่เป็นโบราณวัตถุ

การสาธิตหุ่นยนต์ที่ทำงานร่วมกับมนุษย์ได้อย่างปลอดภัย เมื่อมนุษย์เข้าใกล้หุ่นยนต์จะมีระบบหยุดทำงานแบบอัตโนมัติเพื่อความปลอดภัยของมนุษย์

ต่อจากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังอาคารกรีนเฮ้าส์ อาคาร S ทอดพระเนตรนิทรรศการด้านนวัตกรรมการเกษตรของเมืองนวัตกรรมชีวภาพ (EECi BIOPOLIS) ที่ศึกษาโครงสร้างพื้นฐานและกลไกเพื่อรองรับการขยายผลงานวิจัยและการปรับแปลงเทคโนโลยีให้เข้ากับบริบทของไทย ปรับฐานอุตสาหกรรมการเกษตรเดิมสู่อุตสาหกรรมฐานบนนวัตกรรมและอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน เริ่มตั้งแต่การคัดเลือกสายพันธุ์พืชและสมุนไพรที่มีสารสำคัญสูง และมีระบบการปลูกในโรงเรือนที่เหมาะสม เพื่อให้ได้ผลผลิตโตเร็วขึ้น และมีคุณภาพดี

โอกาสนี้ ทอดพระเนตรโรงเรือนปลูกพืชอัจฉริยะ (Smart Greenhouse) ซึ่งควบคุมสภาพแวดล้อม อุณหภูมิ ความชื้น แสง และระบบน้ำ มีการทดสอบการปลูกบัวบก ซึ่งเป็นพืชที่ไม่ต้องการแสงมาก นักวิจัยจึงคิดค้นหาวิธีลดระยะเวลาการปลูกลง ๔ เท่า จึงเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ใน ๓๐ วัน จากเดิม ๖๐ วัน ฟ้าทะลายโจร ใช้วัสดุการปลูกที่นักวิจัยคิดค้นขึ้นเอง และใช้สูตรปุ๋ยที่ออกแบบตามความต้องการ ส่วนขมิ้นชัน และกระชายดำ เป็นพันธุ์ปลอดโรค เนื่องจากพืช ๒ ชนิดนี้ มักพบปัญหาเหง้าเน่า นักวิจัยจึงใช้วิธีเพาะเนื้อเยื่อแทน และควบคุมการให้น้ำ สำหรับโรงเรือนปลูกพืชอัจฉริยะ เป็นแหล่งทดสอบการปลูกพืชมูลค่าสูง ให้ได้ข้อมูลผลผลิต และวิธีการผลิตที่เหมาะสมในเชิงพาณิชย์ สามารถนำไปผลิตเป็นเครื่องสำอาง และยาสมุนไพร

เครดิตภาพจาก : FB_ NSTDA – สวทช